Location

0 7567 3000

บริการห้องสมุดอัตโนมัติ

บริการห้องสมุดอัตโนมัติ

อัพเดท : 08/03/2555

10046

    
 
 
    ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้จัดตั้งขึ้นพร้อมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ. 2535 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 40 ลงวันที่ 7 เมษายน 2535 และแบ่งส่วนงานออกเป็น 4 ฝ่าย คือฝ่ายธุรการ ฝ่ายห้องสมุด ฝ่ายผลิตและพัฒนาสื่อการศึกษา และฝ่ายบริการ ตามประกาศมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เรื่อง การแบ่งส่วนงาน ลงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2536 มีประวัติความเป็นมาดังนี้
 
      การดำเนินงานของศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในปี 2539 ณ ศูนย์ประสานงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์ กรุงเทพมหานคร เป็นการให้บริการแก่อาจารย์สำหรับจัดเตรียมหลักสูตรต่าง ๆ หลังจากนั้นมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ย้ายจากสำนักงานชั่วคราวจากหน่วยประสานงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กรุงเทพฯ มายังอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช และห้องสมุดก็ได้ย้ายมาดำเนินงานชั่วคราวที่ ณ อาคารสถาบันวิจัย (D4) มีการจัดพื้นที่ของห้องสมุดเป็นห้องเอกเทศและมีพื้นที่ให้บริการแก่ผู้ใช้เป็นครั้งแรกและเริ่มต้นวางแผนการดำเนินสำหรับภารกิจในด้านห้องสมุดและการผลิตและพัฒนาสื่อการศึกษาอย่างเต็มรูปแบบ และในปี 2541 อาคารบรรณสารและสื่อการศึกษาได้ก่อสร้างแล้วเสร็จจึงได้ย้ายจากอาคารสถาบันวิจัย (D4) เข้าสู่อาคารบรรณสารและสื่อการศึกษา (D2) เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2541 ได้เปิดให้บริการพื้นฐานสำหรับผู้ใช้ห้องสมุดและให้บริการด้านการผลิตและพัฒนาสื่อการศึกษาเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2541 พร้อมทั้งได้นำระบบห้องสมุดอัตโนมัติ VTLS มาใช้ปฏิบัติงานและให้บริการผู้ใช้เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2541 หลังจากนั้นได้ขยายและปรับปรุงพื้นที่ชั้น 3 สำหรับการจัดเก็บและบริการหนังสือภาษาต่างประเทศ วารสารและหนังสือพิมพ์ฉบับย้อนหลัง กฤตภาค ห้องสำเนาเอกสาร เอกสารโครงการพิเศษและงานหอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
 
    ปัจจุบันศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาเป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่สนับสนุนด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยในฐานะเป็นแหล่งรวมของทรัพยากรการเรียนรู้และเป็นแหล่งบริการสารสนเทศทางวิชาการแก่คณาจารย์ พนักงานและนักศึกษาได้ใช้ประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าอย่างกว้างขวาง โดยมีฐานะเทียบเท่าสำนักวิชา มีสายการบังคับบัญชาขึ้นตรงกับรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มีคณะกรรมการที่ปรึกษาศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนการดำเนินงานของศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการบริหารงานของศูนย์ โดยมีผู้อำนวยการทำหน้าที่เป็นผู้บริหารและควบคุมการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ให้เป็นไป ตามนโยบายและวัตถุประสงค์ที่วางไว้ มีภารกิจหลักในการพัฒนาและให้บริการทรัพยากรสารสนเทศ การผลิตและพัฒนาสื่อการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ เป็นหน่วยงานกลางในการผลิตเอกสารเพื่อใช้ในการเรียนการสอนและกิจกรรมด้านต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย รวมถึงบริการทางด้านวิชาการแก่ชุมชนใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัย
 

 
ทรัพยากรห้องสมุดที่มีให้บริการ

 
1. สื่อสิ่งพิมพ์ (Printed Materials) ได้แก่ หนังสือตำรา หนังสือทั่วไป หนังสือสารคดี หนังสืออ้างอิง เรื่องสั้น นวนิยาย รายงานประจำปี รายงานการวิจัย วิทยานิพนธ์ จุลสาร กฤตภาค รวมถึง สิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง ได้แก่ วารสาร นิตยสาร หนังสือพิมพ์
2. สื่อโสตทัศน์ (Audio Visual Materials) ได้แก่ เทปบันทึกภาพ เทปบันทึกเสียง ดิสเก็ตท์ แผ่นซีดี-รอม เป็นต้น
3. สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่
    3.1 ฐานข้อมูลทรัพยากรห้องสมุดเป็นฐานข้อมูลบรรณานุกรมของรายการทรัพยากร สารสนเทศที่มีอยู่ในห้องสมุด สืบค้นข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ เรียกว่า Online Public Access Catalog หรือ OPAC ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่ห้องสมุดจัดทำขึ้นเอง
    3.2 ฐานข้อมูลออนไลน์ (Online Databases)เป็นฐานข้อมูลที่บริษัท เอกชนจัดจำหน่ายให้บริการข้อมูลแก่ห้องสมุด หรือฐานข้อมูลเชิงพาณิชย์
    3.3 หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (eBook) เป็นหนังสือหรือเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดเก็บในฐานข้อมูล เพื่อให้ผู้อ่านสามารถอ่านผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พกพา
 

วันเวลาทำการ

 
ช่วงเปิดภาคการศึกษา
จันทร์-ศุกร์         เวลา 08.30 – 21.00 น.
เสาร์-อาทิตย์      เวลา 10.00 – 18.00 น.

ช่วง 3 สัปดาห์ก่อนสอบปลายภาคและระหว่างสอบ
จันทร์-ศุกร์         เวลา 08.30 – 24.00 น.
เสาร์-อาทิตย์      เวลา 10.00 – 18.00 น.

ช่วงปิดภาคการศึกษา
วันจันทร์ – ศุกร์   เวลา 08.30 – 16.30 น.
วันเสาร์ – อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์
ปิดบริการ