Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

โครงการนักวิจัยอาคันตุกะ (Visiting scholars) หลักสูตรเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ม.วลัยลักษณ์ 2560

อัพเดท : 23/06/2560

1413



หลักสูตรเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้เชิญคณะนักวิจัยชาวต่างประเทศ จำนวน 2 ท่าน คือ Asst.Prof.Mohammad Nurul Azim Sikder มหาวิทยาลัยจิตตะกอง ประเทศบังคลาเทศ และ Dr.Wah Wah Min มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ เข้าร่วมโครงการนักวิจัยอาคันตุกะ (Visiting scholars) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 20 มิถุนายน 2560 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากศูนย์กิจการนานาชาติ และการสนับสนุนในด้านบุคลากร และสิ่งสนับสนุนห้องปฏิบัติการจากศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการถ่ายทอด แลกเปลี่ยน และสร้างเครือข่ายความรู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าชายเลน แก่กลุ่มนักศึกษาและนักวิชาการที่สนใจ

กิจกรรมในโครงการประกอบด้วย การบรรยายภาควิชาการ ใน 2 หัวข้อ ได้แก่ (1) Species diversity, habitat preference and shape of crabs (general) in mangrove ecosystem โดย Dr.Wah Wah Min และ (2) Impacts of climate change on coastal ecosystems and carbon minimizing from atmosphere by wetlands โดย Asst.Prof.Mohammad Nurul Azim Sikder พร้อมทั้งการให้คำแนะนำและช่วยสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการใช้ประโยชน์ในวิชาชีพสู่โลกกว้างให้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 และผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟัง นอกจากนี้ได้ทำการสำรวจและศึกษาวิจัยพื้นที่ป่าชายเลนในท้องถิ่นและเข้าเยี่ยมสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 44 จ.นครศรีธรรมราช ทางคณะฯ ยังได้เข้าร่วมกิจกรรมบริการวิชาการในการจัดการขยะในทะเล (Marine debris) ร่วมกับชุมชนท้องถิ่นเนื่องในวันทะเลโลก 8 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ณ บริเวณพื้นที่ ต.ปากนคร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช รวมถึงการนำเสนอความสามารถทางด้านการขับร้องและร่ายรำศิลปะประจำชาติของทั้งสองท่าน ร่วมกับนักศึกษาและคณาจารย์ที่สนใจ และการเข้าเยี่ยมคารวะผู้บริหารและคณาจารย์ที่สนใจในกิจกรรมครั้งนี้

ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างความร่วมมือทางด้านงานวิจัยระหว่างประเทศในหัวข้อศึกษาที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพของปูที่พบในป่าชายเลน และความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนในป่าชายเลนท้องถิ่น รวมถึงผลกระทบจากปัญหาขยะในทะเลโดยเฉพาะไมโครพลาสติก (Micro plastic) ที่มีต่อสิ่งมีชีวิต สิ่งแวดล้อม และห่วงโซ่อาหารบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล โดยได้มีความพยายามในการเชื่อมโยงกิจกรรมให้ครอบคลุมถึงพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัย คือ การเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพของนักศึกษาโดยองค์รวม โดยมีความคาดหวังให้เกิดโครงการความร่วมมือที่ต่อเนื่องและการแลกเปลี่ยนบุคลากรทั้งในระดับคณาจารย์และนักศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยในอนาคตอันใกล้

facebook: สาขาวิชาเทคโนโลยีทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม-มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์