Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ เอ็มโอยู ร่วมกับ 11 รพ. แหล่งฝึกภาคปฏิบัติ น.ศ.พยาบาล

อัพเดท : 04/09/2560

2719



มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 11 โรงพยาบาล แหล่งฝึกภาคปฏิบัติของนักศึกษาพยาบาล ร่วมกันพัฒนาทางด้านการจัดการศึกษา การวิจัย การบริการวิชาการด้านการพยาบาลและวิทยาศาสตร์สุขภาพ

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2560 ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วิภาวรรณ ชะอุ่ม เพ็ญสุขสันต์ คณบดีสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการจัดการศึกษา การวิจัยและการบริการวิชาการทางการพยาบาล ร่วมกับผู้บริหารโรงพยาบาลจำนวน 11 แห่ง ประกอบด้วย รพ.มหาราช นครศรีธรรมราช รพ.สิชล รพ.ท่าศาลา รพ.ปากพนัง รพ.หาดใหญ่ รพ.วชิระภูเก็ต รพ.ตรัง รพ.พัทลุง รพ.สวนสราญรมย์ รพ.สงขลา และ รพ.สุราษฎร์ธานี โดยมีคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ผู้บริหารของโรงพยาบาลทั้งหมดดังกล่าว อาจารย์และนักศึกษาสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องจันทร์ธารา โรงแรมราวดี จ.นครศรีธรรมราช

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ มีความมุ่งมั่นที่จะผลิตบัณฑิตเพื่อตอบสนองต่อการขาดแคลนพยาบาลของประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังมีความต้องการอีกจำนวนมาก อีกทั้งในอนาคตสังคมไทยจะเป็นสังคมที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น ความต้องการพยาบาลก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นด้วย ที่ผ่านมา สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ผลิตได้เพียงปีละ 80 คนเท่านั้น ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการของประเทศ ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ วลัยลักษณ์ได้ตั้งเป้าหมายผลิตบัณฑิตให้ได้ถึงปีละ 200 คน

“ปีที่ผ่านมา คณาจารย์และผู้เกี่ยวข้องทุกคนทำงานกันอย่างหนัก ส่งผลให้บัณฑิตสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ สามารถสอบผ่านใบประกอบวิชาชีพได้ถึงร้อยละ 97 แสดงให้เห็นถึงคุณภาพทางด้านการเรียนการสอนของสำนักวิชาพยาบาล ซึ่งอยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศ ทั้งนี้นอกจากพยาบาลแล้ว มหาวิทยาลัยยังมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนบัณฑิตในสำนักวิชาแพทยศาสตร์จากเดิม 48 คน เพิ่มเป็น 115 คน ในปี พ.ศ.2564 สำนักวิชาเภสัชศาสตร์จากเดิม 90 คน เป็น 160 คน ส่วนสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ จะเพิ่มเป็น 200 คน ที่สำคัญสภามหาวิทยาลัยยังได้อนุมัติให้เปิดวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์นานาชาติ วิทยาลัยสัตวแพทย์ศาสตร์อัครราชกุมารี วิทยาลัยนานาชาติ เพื่อรองรับการขยายตัวทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพด้วย”

สำหรับความร่วมมือดังกล่าว สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และโรงพยาบาลทั้ง 11 แห่ง จะร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือในด้านการจัดการศึกษา การวิจัย การบริการวิชาการทางการพยาบาล และกิจกรรมต่าง ๆ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนางานด้านการพยาบาลและด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่เกี่ยวข้องให้มีความเจริญก้าวหน้า โดยมีขอบเขตความร่วมมือประกอบด้วย ความร่วมมือด้านการจัดการศึกษา เพื่อส่งเสริมคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา เพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการและวิชาชีพให้แก่นักศึกษาทุกระดับ ความร่วมมือด้านการวิจัย เพื่อพัฒนาโครงการวิจัย เสนอโครงการ ดำเนินงานวิจัย และนำเสนอผลงานร่วมกัน ความร่วมมือด้านบริการวิชาการ เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการพยาบาล และความร่วมมือด้านอื่น ๆ เช่น ส่งเสริมบรรยากาศและสร้างสภาวะแวดล้อมแห่งความสมานฉันท์ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และกิจกรรมอื่น ๆ ตามความเหมาะสม

ประมวลภาพ

ภาพและข่าวโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนสื่อสารองค์กร