Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ข้าวพันธุ์พื้นเมือง : อัตลักษณ์ คุณค่า สู่นวัตกรรมข้าวลุ่มน้ำปากพนัง อีกหนึ่งงานวิจัยในการนำเสนอผลงานระดับชาติ

อัพเดท : 01/09/2560

1913



ข้าวพันธุ์พื้นเมือง : อัตลักษณ์ คุณค่า สู่นวัตกรรมข้าวลุ่มน้ำปากพนัง อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ได้มีโอกาสร่วมนำเสนอผลงานระดับชาติในรูปแบบของนิทรรศการ ในงานมหกรรมการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ (Thailand Research Expo 2017) จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และเครือข่าย คอบช. ระหว่างวันที่ 23-27 สิงหาคม 2560 ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพมหานคร

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้นำผลงานวิจัยภายใต้ชุดโครงการวิจัยข้าวพันธุ์พื้นเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นชุดโครงการที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานวิจัยให้แก่นักวิจัยสำหรับการดำเนินงานเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่ในประเด็น “ข้าวพันธุ์พื้นเมือง” ตามความต้องการของพื้นที่ ประกอบด้วย การศึกษาคุณสมบัติของพันธุ์ข้าว กระบวนการผลิต นวัตกรรมและการเรียนรู้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาด โครงการวิจัยทั้งหมด สามารถขับเคลื่อนได้เนื่องจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายที่สำคัญ ทั้งศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช เกษตรกรและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ผลลัพธ์ของโครงการวิจัยเหล่านี้เป็นองค์ความรู้ทางวิชาการที่ต้องอาศัยการสื่อสารและนำไปประยุกต์ใช้โดยการขยายองค์ความรู้สู่เกษตรกรในพื้นที่และในแวดวงวิชาการ ผลงานที่เข้าร่วมการนำเสนอนิทรรศการในครั้งนี้ ได้แก่

การศึกษาอัตลักษณ์วิถีข้าวพื้นเมืองของชาวนาชุ่มน้ำปากพนัง นักวิจัยในโครงการ อาจารย์ ดร.รุ่งรวี จิตภักดี และ อาจารย์ศันสนีย์ วงศ์สวัสดิ์ วัตถุประสงค์เพื่อสำรวจ รวบรวม ประมวลเรื่องราววิถีข้าวและชาวนาลุ่มน้ำปากพนัง ออกแบบสื่อสารอัตลักษณ์วิถีข้าวผ่านสื่อ ศึกษาการรับรู้ผู้รับสารผ่านกระบวนการรูปแบบของการสื่อความหมายและอัตลักษณ์วัฒนธรรมของชุมชนเกี่ยวกับเรื่องราววิถีข้าวและชาวนาลุ่มน้ำปากพนังสู่ชุมชนปากพนัง

การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและคุณค่าทางโภชนาการของข้าวพันธุ์พื้นเมือง ในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ผ่านการแปรรูปเบื้องต้นด้วยวิธีแตกต่างกัน นักวิจัยในโครงการ ผศ.ดร.สุปราณี มนูรักษ์ชินากร และ ผศ.ดร.วรรวรรณ พันพิพัฒน์ วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและคุณค่าทางโภชนาการของข้าวพันธุ์พื้นเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งผ่านการแปรรูปเบื้องต้นที่แตกต่างกัน

ความสามารถในการต้านออกซิเดชันและการเกิดโรคเบาหวานของข้าวพันธุ์พื้นเมือง ในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ผ่านการแปรรูปเบื้องต้นด้วยวิธีที่แตกต่างกัน นักวิจัยในโครงการ รศ.ดร.มนัส ชัยจันทร์ อ.ดร.พิจักษ์ สัมพันธ์ อ.ดร.พวงทิพย์ ภู่พงษ์ วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อศึกษาฤทธิ์ในการต้านออกเซิเดชันของข้าวพันธุ์พื้นเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งผ่านการแปรรูปเบื้องต้นด้วยวิธีแตกต่างกัน และการศึกษาความสามารถในการลดน้ำตาลในเลือดและกิจกรรมการยับยั้งเอนไซม์ α-amylase และ α-glucosidase ของข้าวพันธุ์เมืองจังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งผ่านการแปรรูปเบื้องต้น

อัศจรรย์เชื้อราไตรโคเดอร์มาสายพันธุ์ท้องถิ่นปกป้องและส่งเสริมการเจริญเติบโตของต้นข้าวพันธุ์พื้นเมืองเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง นักวิจัยในโครงการ รศ.ดร.วาริน อินทนา รศ.ดร.มนตรี อิสรไกรศีล และ ดร.อรรถกร พรมวี วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อศึกษาชนิดของโรคที่ระบาดและความรุนแรงของโรค ประสิทธิภาพของเชื้อรา T. harzianum NST-009 ในการลดความรุนแรงของโรคและส่งเสริมการเจริญเติบโตของข้าว เพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ตลอดจนเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตข้าวทั้งด้านการควบคุมโรค การส่งเสริมการเจริญเติบโตตามวิธีปฏิบัติทั่วไปของเกษตรและวิธีปฏิบัติที่ใช้เชื้อรา T. harzianum NST-009

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชาเขียวจากต้นข้าวไข่มดริ้น: ข้าวพันธุ์พื้นเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช นักวิจัยในโครงการ ผศ.ดร.วรวรรณ พันพิพัฒน์ จากการศึกษาพบว่ากระบวนการผลิตที่เหมาะสมในการผลิตชาเขียวจากต้นข้าวไข่มดริ้น ระยะเวลาที่เหมาะสมในการปลูกต้นข้าว คือ 10 วันหลังจากนำลงดินโดยต้องใช้ข้าวเปลือกที่ผ่านการแช่น้ำ

การศึกษาช่องทางการกระจายสินค้าข้าวพันธุ์พื้นเมืองในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง นักวิจัยในโครงการ ผศ.บุณฑรี จันทร์กลับ และ อ.ดร.อรอนงค์ เฉียบแหลม วัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อศึกษาช่องทางการกระจายสินค้า ความต้องการบริโภค ตลอดจนเสนอแนะช่องทางการกระจายสินค้าข้าวพันธุ์พื้นเมืองในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง

นอกจากนี้ยังได้มีการนำผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าวพันธุ์พื้นเมือง อาทิ ขนมลา ขนมบราวนี่ ขนมขี้มอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ชาข้าว 3 แบบ ได้แก่ ชาข้าวมอลต์ ชาต้นข้าวอ่อนจากข้าวไข่มดริ้น ชาข้าวผง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความชื่นชอบจากผู้ที่เข้าร่วมชมนิทรรศการเป็นอย่างมาก

ประมวลภาพ
รายละเอียดเพิ่มเติม : http://ird.wu.ac.th