Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ผู้นำท้องถิ่นจังหวัดนครศรีฯ กว่า 100 คน ร่วมสัมมนา การบริหารจัดการเมือง ที่ ม.วลัยลักษณ์

อัพเดท : 20/09/2560

1036



ม.วลัยลักษณ์ จัดโครงการ Asean Local Governance การบริหารจัดการเมือง : บทเรียนและประสบการณ์นักการเมืองท้องถิ่น เตรียมพร้อมพัฒนาเมือง รองรับการเจริญเติบโตของจังหวัดนครศรีธรรมราชในอนาคต โดยได้รับความสนใจจากนักการเมืองท้องถิ่นจากทุกภาคส่วน เข้าร่วมกว่า 100 คน

สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดโครงการ Asean Local Governance การบริหารจัดการเมือง : บทเรียนและประสบการณ์นักการเมืองท้องถิ่น เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และความรู้ทางวิชาการระหว่างนักการเมืองท้องถิ่นกับนักวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ ในการวางแผน การบริหารจัดการเมืองในด้านต่างๆ รองรับการเติบโตของจังหวัดนครศรีธรรมราชและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในอนาคต เมื่อวันศุกร์ที่ 15 กันยายน 25560 ที่ผ่านมา ณ อาคารเรียนรวม 5 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

โอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ บอกกล่าวความตั้งใจและเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยในการจัดโครงการแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาผ่านวีดิทัศน์ให้ผู้เข้าร่วมได้รับชม รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ไหมศรีกรด รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการต่างประเทศ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย คุณทรงชัย วงษ์วัชรดำรง นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองทุ่งส่ง บรรยายพิเศษ เรื่อง บทเรียนการบริหารจัดการเมือง และรองศาสตราจารย์ ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ บรรยายสรุป เรื่องการบริหารจัดการเมือง

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการพัฒนาการบริหารส่วนท้องถิ่นมีความก้าวหน้าตามลำดับ แต่ยังมีปัญหา อุปสรรคบางประการ ที่ผู้นำท้องถิ่นทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ไขในอนาคต แต่การที่นักการเมืองท้องถิ่นมาร่วมมือกับนักวิชาการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตหมายอันดี ในอนาคต ม.วลัยลักษณ์ จะสร้างเครือข่ายนักวิชาการในอาเซียน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการท้องถิ่นกับผู้นำในระดับอาเซียน ที่การบริหารจัดการเมืองมีความก้าวหน้า เพื่อนำมาประยุกต์และปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับบ้านเมืองของเรา ม.วลัยลักษณ์จึงมีความต้องการที่จะร่วมมือกับนักการเมืองท้องถิ่น เพื่อใช้ความรู้ทางวิชาการที่มีอยู่มาช่วยในการบริหารจัดการท้องถิ่นต่างๆ ให้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งนักการเมืองท้องถิ่นมีความรู้ มีประสบการณ์จริงจากการปฏิบัติหน้าที่มาเป็นเวลานาน ส่วนนักวิชาการ มีความรู้ในเชิงทฤษฎี เมื่อทั้ง 2 ส่วนนี้มาประสานร่วมมือกัน ก็จะเกิดประโยชน์กับประชาชนคนไทยอย่างแน่นอน

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ขณะนี้ มีสำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ โดยในหลักสูตรรัฐศาสตร์ มีสาขาวิชาทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการส่วนท้องถิ่นของประเทศไทย สาขาการปกครอง และสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยสำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ ได้จัดการเรียนการสอนที่ครอบคลุมความจำเป็นและความต้องการของประเทศ ส่วนหลักสูตรนิติศาสตร์ ถึงแม้จะเป็นหลักสูตรเปิดใหม่แต่ได้รับความสนใจจากนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นอย่างมาก โดยมหาวิทยาลัยมีแผนที่จะปรับปรุงหลักสูตรทางด้านนิติศาสตร์ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดยได้มีการจัดตั้งศาลจำลอง ให้นักศึกษาได้ศึกษาเรียนรู้มีประสบการณ์เสมือนจริง

ในส่วนของการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการการบริหารจัดการเมือง: บทเรียนและประสบการณ์นักการเมืองท้องถิ่นไทยในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งมหาวิทยาลัยอยากร่วมมือกับผู้นำส่วนท้องถิ่นทุกภาคส่วนและมีความยินดีที่จะเป็นเครือข่ายประสานความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างผู้นำทุกท่านต่อไป ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าว

ประมวลภาพ

ข่าว : ชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร
ภาพ : นุรุณ จำปากลาย ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา