Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ แถลงผลการดำเนินงานและนโยบายมุ่งสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ

อัพเดท : 06/11/2560

2143





มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยส่วนสื่อสารองค์กร จัดแถลงข่าวผลการดำเนินงานและนโยบายความเป็นนานาชาติ การนำมาตรฐาน UKPSF มาใช้สำหรับการเรียนการสอน จัดตั้งสถาบันภาษาวิทยาลัยนานาชาติ เปิดหลักสูตรอินเตอร์ พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมให้มีความเป็นสากล

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนา รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ไหมศรีกรด รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการต่างประเทศ ร่วมแถลงข่าวผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา นโยบายความเป็นนานาชาติ การก้าวสู่มหาวิทยาลัยวิจัยสมบูรณ์แบบชั้นนำของประเทศ โดยมีคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ตลอดจนสื่อมวลชนจากสถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุกระจายเสียง หนังสือพิมพ์ รวมถึงสื่อออนไลน์ต่างๆ จำนวน 22 คนเข้าร่วม ณ ห้องโมคลาน อาคารบริหาร



ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้มีพัฒนาการและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยคุณภาพสมบูรณ์แบบชั้นนำของประเทศ ดูได้จากความสำเร็จของงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ ในปีที่ผ่านมา มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ จำนวนกว่า 121 ชิ้นงาน และการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษาจะเป็นหลักสูตรนานาชาติอีกด้วย ขณะเดียวกันมีจุดมุ่งหมายเพื่อก้าวสู่ความเป็นสากลและสร้างความแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น เพื่อรองรับวิสัยทัศน์ “เป็นเลิศสู่สากล” เริ่มจาก 1) การจัดตั้ง “สถาบันภาษา” โดยรับสมัครอาจารย์ต่างประเทศมาสอนภาษาอังกฤษให้แก่นักศึกษา จำนวนกว่า 32 คน ทั้งกำหนดให้นักศึกษาต้องเรียนภาษาอังกฤษเป็นเวลา 2 ปี จากการทดสอบภาษาอังกฤษของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ไม่ผ่านการทดสอบจำนวน 30% จึงได้นำนักศึกษาเหล่านี้มาสอนเสริม ส่งผลให้การเรียนภาษาอังกฤษดีขึ้น ซึ่งทุกภาคการศึกษาจะมีการทดสอบก่อนและหลังเรียนเพื่อจะได้เห็นพัฒนาของนักศึกษา โดยนำผลการทดสอบมาจัดกลุ่มเรียนตามความสามารถ 2) สหกิจศึกษาในต่างประเทศ โดยจัดอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมภาษาอังกฤษสำหรับนักศึกษาที่สนใจไปสหกิจต่างประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ในการไปทำงานต่างประเทศ เมื่อจบการศึกษาจะได้มีความกล้าที่จะสมัครทำงานในบริษัทข้ามชาติ 3) การจัดค่ายวัฒนธรรมนานาชาติ เพื่อให้นักศึกษาจากประเทศต่างๆ กว่า 21 ประเทศ จำนวน 70 คน ได้รู้จักประเทศไทยและมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อาจเรียกได้ว่า เป็นการประชาสัมพันธ์ที่มีค่าใช้จ่ายที่น้อยมาก โดยหวังว่า นักศึกษาต่างชาติเหล่านี้จะมาเรียนต่อระดับบัณฑิตศึกษาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 4) การจัดตั้งวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์นานาชาติ วิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์นานาชาติ “อัครรราชกุมารี” การจัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติ และการเปิดหลักสูตรนานาชาติของสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ หลักสูตร Logistic, Public Affair, International Law และวิศวกรรมเคมี ส่วนหลักสูตรปกติก็จะปรับให้เป็นแบบทวิภาษาในอนาคต

นอกจากนี้ ในหลักสูตรที่มีความเกี่ยวข้องกับความเป็นสากล เช่น หลักสูตรอาเซียนศึกษา จะเป็นการเรียนที่วลัยลักษณ์ 3 ปี และอีก 1 ปี จะเป็นการไปเรียนที่ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือ เวียดนาม ตามความสนใจของนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษามีความรู้และความพร้อมในการไปทำงานในบริษัทเอกชน

ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนา ได้กล่าวถึงการผลิตบัณฑิตว่า เริ่มต้นจากคุณภาพของนักศึกษาที่เข้ามาเรียน กระบวนการผลิต และการมีงานทำ ซึ่งในกระบวนการผลิตบัณฑิตได้มีผลประเมินการประกันคุณภาพการศึกษาตามระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษา ในรอบปีการศึกษา 2559 ว่า อยู่ในระดับดีมาก ได้ค่าเฉลี่ย 4.64 ซึ่งคณะกรรมการที่มาประเมินเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก และบัณฑิตมีงานทำถึงร้อยละ 98.3 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 18,097 บาท โดยสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มีเงินเดือน/รายได้เฉลี่ยสูงสุด 47,893 บาทต่อเดือน และจากการประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิตในภาพรวมของทุกด้าน คะแนนอยู่ที่ 4.37 ดังนั้น การได้มาซึ่งนักศึกษาซึ่งเป็นขั้นตอนแรกนั้นจะต้องทำให้นักเรียนที่เก่งสนใจที่จะมาเรียนที่วลัยลักษณ์ และในอนาคต มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะต้องมีชื่อปรากฎอยู่ในรายชื่อของมหาวิทยาลัยระดับโลกให้ได้

รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ไหมศรีกรด รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการต่างประเทศ ได้พูดถึงความเป็นสากลว่า จะต้องเป็นสากลในทุกมิติ รวมทั้งการผลิตบัณฑิต โดยได้นำระบบการเรียนการสอน UKPSF มาใช้ เพื่อพัฒนาบัณฑิตให้มีความสามารถในการแข่งขันกับคนทั่วโลก และไปทำงานในประเทศใดๆ ในโลกได้ด้วย รวมทั้งการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้มีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยต่างๆ กว่า 50 มหาวิทยาลัย ใน 11 ประเทศ

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ได้กล่าวเสริมถึงการเรียนการสอน UKPSF ว่า เป็นการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาด้านการวิเคราะห์และสังเคราะห์ โดยอาจารย์จะต้องมีการออกแบบการสอนในหลากหลายรูปแบบ เช่น Problem Based Learning, Project based Learning เป็นต้น มีการทำโจทย์ การแสดงความคิดเห็น เน้นให้นักศึกษามีส่วนร่วม ที่สำคัญ อาจารย์ที่สอนจะต้องรู้จริงในสิ่งที่สอน นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังได้สนับสนุนงบประมาณ จำนวน 15 ล้านบาท เพื่อดำเนินการขับเคลื่อน Smart Classroom โดยนำ IT มาช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้บัณฑิตที่จบมีความสามารถด้าน IT อีกด้วย

ในวันเดียวกันนี้ได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมการให้บริการของโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งได้เปิดให้บริการแก่บุคลากร นักศึกษาและประชาชน มาระยะหนึ่ง ก่อนที่จะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 พร้อมเยี่ยมชมความก้าวหน้าการก่อสร้างโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ และกำหนดแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2562 และพร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2564

ประมวลภาพ