Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ นำมาตรฐาน UKPSF จากประเทศอังกฤษมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน

อัพเดท : 26/10/2562

8879

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เล็งเห็นความสำคัญของการปฏิรูปการเรียนการสอน เพื่อก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพ จึงได้นำกรอบมาตรฐานวิชาชีพเพื่อการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพของประเทศอังกฤษ หรือ UKPSF (The UK Professional Standards Framework) จาก The Higher Education Academy (HEA),UK มาใช้สำหรับการเรียนการสอน เพื่อให้อาจารย์ผู้สอนมีทักษะความสามารถ มีความเป็นมืออาชีพ ในการสอนมากขึ้น รวมถึงเพื่อให้นักศึกษามีทักษะในการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ มากกว่าการเรียนแบบท่องจำ โดยได้สมัครเป็นสมาชิกของ UKPSF เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน ได้จัดอบรม เรื่อง “กรอบมาตรฐานวิชาชีพเพื่อการสอนและการสนับสนุนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพของประเทศอังกฤษ (The UK Professional Standards Framework (UKPSF)” ให้แก่คณาจารย์ โดยจัดอบรมครั้งแรก ระหว่างวันที่ 27-30 พฤศจิกายน 2560 ณ ห้องประชุม 4 อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม โดยมี คณบดี รองคณบดี หัวหน้าสาขาและคณาจารย์ของทุกสำนักวิชา เข้าร่วม โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ไหมศรีกรด รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ เป็นประธานเปิดการอบรม และได้รับเกียรติจาก Kathy Wright, FHEA, Associate Head of Academic and Professional Development and Andy Hudson, Higher Education Academy Consultant เป็นวิทยากรในการอบรม หลังการอบรมจะมีการประเมินตามเกณฑ์คุณสมบัติผู้สอน (Descriptor) โดยผู้ผ่านการประเมินจะได้รับยกย่อง ซึ่งแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ระดับที่ 1 Associate Fellow ระดับที่ 2 Fellow ระดับที่ 3 Senior Fellow และ 4 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด คือ Principal Fellow

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวถึงระบบ UKPSF ว่า เป็นระบบมาตรฐานที่ถูกพัฒนามาจากหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพจากกว่า 20 ประเทศในแถบตะวันตก โดยมีองค์ประกอบ 3 ส่วน ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน คือ ส่วนที่ 1 Area of Activity กิจกรรมหรือสมรรถนะในการจัดการและสนับสนุนการเรียนรู้ การออกแบบและการประเมินการสอน การให้โจทย์แก่นักศึกษาในการเรียน คิด วิเคราะห์อย่างจริงจัง ส่วนที่ 2 Core Knowledge ความรู้หลัก คือ การมุ่งเน้นให้อาจารย์ผู้สอนมีความรู้ในเนื้อหาอย่างจริงจัง เพื่อให้อาจารย์สอนนักศึกษาได้อย่างถูกต้อง และส่วนที่ 3 Professional Values เกณฑ์คุณค่าในการเป็นอาจารย์ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน



ทั้ง 3 ส่วนนี้ เป็นลักษณะของการจัดการเรียนรู้ที่เน้นบทบาทและการมีส่วนร่วมของผู้เรียน (Active learning) ผ่านวิธีการจัดการเรียนรู้หลากหลายวิธี เช่น การเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน (Activity-Based Learning) การเรียนรู้เชิงประสบการณ์ (Experiential Learning) การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning) การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) การเรียนรู้ที่เน้นทักษะกระบวนการคิด (Thinking - Based Learning) การเรียนรู้จากการสืบค้น (Inquiry-Based Learning) และการเรียนรู้ด้วยการค้นพบ (Discovery Learning) เป็นต้น และในอนาคตจะมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีหรือระบบ Smart Classroom เพื่อทำให้การจัดการเรียนรู้แบบ Active learning มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย

ประมวลภาพ

ข่าวโดย ชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร