Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ม.วลัยลักษณ์ ปรับหลักสูตรใหม่ “นวัตกรรมการเกษตรและการประกอบการ” สร้างผู้ประกอบการการเกษตร แบบ Smart Farmer

อัพเดท : 01/12/2560

2912

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริยัน ธัญกิจจานุกิจ รักษาการคณบดี สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ม.วลัยลักษณ์ ได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการเกษตรแบบใหม่ คือ“หลักสูตรนวัตกรรมการเกษตรและการประกอบการ” เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในยุคปัจจุบันและเพื่อให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจด้านการเกษตรมากขึ้น โดยหลักสูตรใหม่นี้ได้ผ่านการพิจารณาจากสภามหาวิทยาลัยฯ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา และจะเป็นหลักสูตรที่เริ่มใช้ในปีการศึกษา 2561 โดยจุดเด่นของหลักสูตรนวัตกรรมการเกษตรและการประกอบการนี้ คือ การมุ่งเน้นสร้างเกษตรกรยุคใหม่หรือที่เรียกว่า Smart Farmer ให้ธุรกิจการเกษตรของประเทศไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริยัน ธัญกิจจานุกิจ กล่าวต่ออีกว่า แนวความคิดในการสร้างหลักสูตรนี้ ประกอบด้วย 1.การเพิ่มทักษะทางด้านการบริหารธุรกิจและการประกอบการให้แก่นักศึกษา 2.การเพิ่มความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร เพื่อในอนาคตนักศึกษาจะได้นำความรู้ทั้งสองส่วนนี้ไปใช้ควบคู่กับความรู้ด้านการเกษตรและนำไปประกอบอาชีพได้ ที่สำคัญหลักสูตรนี้มุ่งเน้นเรื่องการปฏิบัติงานจริงควบคู่กับการเรียนภาคทฤษฎี ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1- 4 นักศึกษาชั้นปีที่ 1 เรียนรู้ทฤษฎีและการปฏิบัติงานด้านการเกษตร ณ ศูนย์สาธิตและถ่ายทอดนวัตกรรมเทิดพระเกียรติ ร.9 และเนื่องจากทางสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ได้ดำเนินการก่อตั้งร้านค้าจำลอง ชื่อว่า “ร้านกล้าดี” ซึ่งจะเป็นร้านค้าให้นักศึกษาได้นำผลผลิตทางการเกษตรที่ผลิตได้มาฝึกจำหน่าย และฝึกบริหารจัดการธุรกิจขนาดเล็ก ชั้นปีที่ 2 นักศึกษาจะได้ฝึกปฏิบัติงานด้านการเกษตร ณ ศูนย์ Smart Farm ของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่รวบรวม พืชไร่ พืชสวน ปศุสัตว์และอื่นๆ โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆมาใช้ในการบริหารจัดการ มีหอพักให้นักศึกษาได้ทดลองใช้ชีวิตเสมือนเกษตรกรจริงๆในฟาร์ม เรียนรู้ระบบการบริหารจัดการฟาร์มตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ความต้องการของตลาด การคำนวณต้นทุน วิธีการทำธุรกิจ การเงิน การตลาด การประกอบการ ระบบโลจิสติกส์ E-Commerce เป็นต้น ชั้นปีที่ 3 เลือกเรียนด้านวิชาชีพที่สนใจ เช่น พืช สัตว์ ประมง อุตสาหกรรมอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ และชั้นปีที่ 4 แบ่ง นักศึกษา ออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มผู้ประกอบการ สำหรับผู้สนใจอยากทำธุรกิจด้านการเกษตร โดยทางสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถ่ายทอดความรู้ด้านการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้กับนักศึกษากับโครงการ Startup ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีเป้าหมายในการสร้างผู้ประกอบการในสถาบันการศึกษา พัฒนาการเป็นผู้ประกอบการของนักศึกษา และการฝึกทำธุรกิจ 2.กลุ่มฝึกปฏิบัติสหกิจศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สำหรับผู้สนใจอยากทำงานกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ 3.กลุ่มโครงงานวิจัย สำหรับผู้สนใจศึกษาต่อเพื่อเป็นนักวิจัยหรือนักวิชาการในอนาคต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริยัน ธัญกิจจานุกิจ ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้การเรียนการสอนในหลักสูตรใหม่นี้ จะให้นักศึกษาฝึกสร้างโมเดลธุรกิจขนาดเล็ก โดยมหาวิทยาลัยได้สร้างเครือข่ายผู้รู้ในแวดวงผู้ประกอบการด้านการเกษตรที่ประสบความสำเร็จ มาช่วยแนะนำเพิ่มเติม ให้นักศึกษาได้ลองฝึกเป็นผู้ประกอบการเกษตรประเภทนั้นจริงๆ ภายใต้การแนะนำอย่างใกล้ชิดจากปราชญ์หรือเกษตรกรผู้ประสบความสำเร็จในธุรกิจประเภทนั้นๆ จึงมั่นใจได้ว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาไปแล้วนักศึกษาจะมีความมั่นใจ กล้าเป็นผู้ประกอบการ เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ (Smart Farmer) ที่รอบรู้ด้านวิชาการสามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้แบ่งเบาปัญหาต่างๆในฟาร์มเกษตร ควบคู่ความรู้สาขาต่างๆในการทำธุรกิจ เป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ที่ประสบความสำเร็จ ช่วยพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศให้เข็มแข็งต่อไป ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริยัน กล่าว

ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.075-672301-3 หรือ ทางFacebook : สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ม.วลัยลักษณ์

ข่าว : ชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร