Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยว (TBUS) ขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ

อัพเดท : 10/01/2561

1595



ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และอาจารย์ประจำหลักสูตรอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาการตลาด หลักสูตรบริหารธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้รับเชิญจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (BEDO) ให้เป็นวิทยากรในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ โดยมีตัวแทนชุมชน 8 ชุมชนในภาคใต้เข้าร่วมกิจกรรมจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนสินค้าและบริการของชุมชนบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพ

“...เราพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของผู้ประกอบการในภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนท่องเที่ยวในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ซึ่งในการดำเนินการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพครั้งนี้ ทางสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ หรือ BEDO ต้องการให้เราช่วยผลักดันให้ชุมชนต่าง ๆ สามารถพัฒนาแผนงานระยะเวลา 3 ปี เพื่อใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรชีวภาพที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ดร.พิมพ์ลภัส กล่าว

โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีภารกิจหลัก (Missions) ในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันและการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมถึงธุรกิจชุมชน โดยนำความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาธุรกิจทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น รวมถึงฐานความรู้ในงานวิจัยเพื่อบริการวิชาการให้กับภาคส่วนต่าง ๆ โดยมีพื้นที่ที่คณาจารย์ในศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไปวิจัยและบริการวิชาการที่ไม่จำกัดเฉพาะในภาคใต้ แต่ดำเนินการทั่วประเทศ อาทิ เชียงคาน จังหวัดเลย เกาะช้าง จังหวัดตราด จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดราชบุรี เป็นต้น

“...เราผลักดันชุมชนด้านการวางแผนการตลาดและออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไปจนถึงการสร้างแบรนด์ ซึ่งเราไม่พลาดโอกาสที่จะนำลูกศิษย์ที่เป็นนักศึกษาปัจจุบันลงพื้นที่และได้เรียนรู้ประสบการณ์จากสถานการณ์จริง เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้และรับฟังมุมมองใหม่ ๆ ที่จะตอกย้ำให้เด็ก ๆ ได้เห็นว่าเด็กกำลังเรียนรู้หลักการวิชาการจากของจริง ประสบการณ์จริง...” ผศ.ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าว

ประมวลภาพ