Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

เครือข่ายบริหารการวิจัย สกอ.ภาคใต้ตอนบน ร่วม บ.เอกชน ลงนามความร่วมมือ 2 งานวิจัย ส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการและสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

อัพเดท : 22/03/2561

2359



เครือข่ายบริหารการวิจัย สกอ.ภาคใต้ตอนบน โดยมี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาแม่ข่ายจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โครงการวิจัยและพัฒนาภาครัฐร่วมเอกชนในเชิงพาณิชย์ระหว่าง บริษัท แฟร์เวย์ โฮลดิ้ง จำกัดและบริษัท กราว์ฮอก สตูดิโอ จำกัด เพื่อนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ตอบสนองความต้องการของภาคการผลิตและอุตสาหกรรมตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ Thailand 4.0 และยุทธศาสตร์การพัฒนาของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ณ ห้องประชุมโมคลาน อาคารบริหาร เมื่อวันจันทร์ ที่ 19 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โครงการวิจัยและพัฒนาภาครัฐร่วมเอกชนในเชิงพานิชย์ ระหว่าง บริษัท แฟร์เวย์ โฮลดิ้ง จำกัดและบริษัท กราว์ฮอก สตูดิโอ จำกัด ใน 2 งานวิจัย โดยมีผู้แทนจาก 2 ฝ่ายร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง ดังนี้

1.)คุณธเนศ วิชชุไตรภพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แฟร์เวย์ โฮลดิ้ง จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง “การพัฒนาระบบลดความชื้นเชื้อเพลิงชีวมวลแบบต่อเนื่องด้วยคลื่นไมโครเวฟสำหรับอุตสาหกรมผลิตไฟฟ้า โดย นายไพรวัลย์ เกิดทองมี นักวิทยาศาสตร์ สังกัดศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หัวหน้าโครงการ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิยม กำลังดี รักษาการแทนผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมลงนามเป็นพยาน



2.) คุณกิตติพงษ์ ศรีกิมแก้ว กรรมการผู้จัดการ บริษัท กราว์ฮอก สตูดิโอ จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง “การกำหนดคุณสมบัติของแอพพลิเคชันโลกเสมือนผสานโลกจริงในมุมมองเชิงพานิชย์ กรณีศึกษาแอพลิเคชันแคนวาสคิดส์” โดย ดร.วรวิกา วัฒนสุนทร อาจารย์สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต หัวหน้าโครงการ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัตนา เวทย์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ร่วมลงนามเป็นพยาน



ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร. อภินันท์ สุประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาสังคม ประธานในพิธีเปิดการลงนามในครั้งนี้ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาแม่ข่าย ยินดีให้การสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างแหล่งทุนต่างๆกับนักวิจัยและผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อให้ผลงานวิจัยสามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์จริงและตรงตามความต้องการของภาคการผลิตและอุตสาหกรรม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ Thailand 4.0 และยุทธศาสตร์การพัฒนาของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่มุ่งและสนับสนุนให้นำองค์ความรู้จากสถาบันอุดมศึกษามาวิจัยและพัฒนาร่วมกัน หรือนำเอาผลงานวิจัยและนวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่แล้วไปถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการ และ SMEs ทั้งนี้เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับภาคการผลิตและอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังสนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยความเป็นเลิศ ทั้ง 10 ศูนย์ด้วยหวังว่าผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากทั้ง 10 ศูนย์ จะช่วยสนับสนุนให้ภาคการผลิตและอุตสาหกรรม รวมทั้งสังคม ชุมชน ของภาคใต้ตอนบน มีโอกาสทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร. อภินันท์ กล่าว

ประมวลภาพ

ข่าวและภาพ ชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร