Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

อาจารย์ภูสิต ห่อเพชร ม.วลัยลักษณ์ นำเสนอผลงานวิชาการเรื่องขยะทะเลบนเวทีนานาชาติ ณ สหรัฐอเมริกา

อัพเดท : 29/03/2561

1481



อาจารย์ภูสิต ห่อเพชร สาขาเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เข้าร่วมประชุมและนำเสนอผลงานวิชาการในเวทีการประชุมขยะทะเลระดับนานาชาติ ครั้งที่ 6 (The Sixth International Marine Debris Conference, 6IMDC) ณ เมืองซานดิเอโก มลรัฐคาลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 12-16 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมได้เน้นกิจกรรมให้เกิดการลดปริมาณขยะจากต้นทาง ได้แก่ การรณรงค์ลดปริมาณขยะให้เป็นศูนย์ (Zero-waste commitment) และการลดการใช้ถุงพลาสติกที่ใช้เพียงครั้งเดียว (Single-use plastic reduction) อย่างเป็นรูปธรรมและให้เกิดประสิทธิภาพ

การประชุมขยะทะเลนานาชาตินับเป็นการประชุมหลักสำคัญที่ได้จัดขึ้นทุก 5-10 ปี โดยมีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายภาคส่วน ได้แก่ นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ ผู้บริหารนโยบายและแผนงานเพื่อการจัดการชายฝั่งจากภาคส่วนต่างๆ ผู้จัดการทรัพยากรทะเล ชายฝั่ง และมหาสมุทร ผู้แทนการจัดการปัญหามลพิษและของเสียจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และอุตสาหกรรม องค์กรอิสระ ศิลปิน ผู้นำกลุ่มเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้สนใจทั่วไป โดยหัวข้อหลักที่มีการแลกเปลี่ยนได้แก่ งานวิจัย ไมโครพลาสติก การเผยแพร่และสื่อสารองค์ความรู้ การลดและป้องกัน การสร้างเครือข่าย นโยบายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ทั้งนี้ในที่ประชุมได้นำเสนอวิธีการต่างๆ ในการจัดการปัญหาขยะทะเลที่มีความซับซ้อน นับตั้งแต่วิธีพื้นฐานจนถึงการใช้เทคโนโลยีระดับสูง การเข้ามีส่วนร่วมขององค์กรเด็กและเยาวชน รวมถึงการใช้ศิลปะในหลากหลายรูปแบบเพื่อการจัดการปัญหาขยะทะเลให้เกิดประสิทธิภาพ การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากกว่า 700 คน จาก 54 ประเทศทั่วโลก นับเป็นผู้เข้าร่วมชาวต่างชาติมากกว่าชาวอเมริกัน สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย จีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญในการจัดการปัญหาขยะทะเลอย่างมากภายในประเทศและมีการเชื่อมโยงสู่ระดับสากลอย่างเป็นระบบ ในการประชุมครั้งนี้มีตัวแทนจากประเทศไทยเข้าร่วมจำนวน 2 คน



สำหรับหัวข้อในการนำเสนอคือ “การศึกษาระยะยาวและชุดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักในการลดปริมาณขยะทะเล: กรณีศึกษาโดยการสร้างการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย” (A Long-Term Study and Series of Awareness Raising Activities for Marine Debris Reduction: Case Study of Participatory Multi-Sector Approach from Southern Thailand) ซึ่งได้มีการดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ในรูปแบบการบูรณาการร่วมกับการเรียนการสอน การวิจัยเชิงพื้นที่ และการบริการวิชาการอย่างต่อเนื่องร่วมกับหลายภาคส่วนในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะในด้านการสร้างองค์ความรู้จากข้อมูลในท้องถิ่น การสร้างความตระหนักและการเผยแพร่ให้ชุมชนเห็นความสำคัญในการจัดการปัญหาขยะทะเลตั้งแต่ต้นทาง เพื่อร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมโดยเฉพาะในวันสำคัญทางทะเลในท้องถิ่นได้แก่ วันโลมาโลก (14 เมษายน) วันทะเลโลก (8 มิถุนายน) และวันเกาะกระ (12 สิงหาคม) ของทุกปี ซึ่งได้มีการสร้างสรรค์รูปแบบกิจกรรมใหม่ๆ ได้แก่ กิจกรรมมือสางทะเลสวย, กิจกรรม 3R_OK, กิจกรรมสร้างรั้วทะเล และการออมเงินโดยใช้ขวดน้ำดื่ม เป็นต้น รวมถึงการนำศิลปะในรูปแบบต่างๆ มาประยุกต์ใช้ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน เพื่อเน้นปลูกจิตสำนึกในเด็ก เยาวชน และคนในพื้นที่

การเข้าร่วมการประชุมขยะทะเลนานาชาติครั้งนี้จึงนับเป็นโอกาสที่สำคัญยิ่งในการได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ การสร้างความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในการดำเนินการจัดการปัญหาขยะทะเลให้เกิดประสิทธิภาพ เชื่อมโยง และสร้างความต่อเนื่องร่วมกับหลายภาคส่วนในทุกระดับ ทั้งนี้จะได้มีการนำแนวทางเพื่อการรณรงค์ลดปริมาณขยะให้เป็นศูนย์และการลดการใช้ถุงพลาสติก

ประมวลภาพ