Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ฯ จัด โครงการ “การสร้างนวัตกรด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ LekOboT ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่สร้างนวัตกรรม ยกระดับการแข่งขันของประเทศ

อัพเดท : 03/04/2561

682





มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงการ“การสร้างนวัตกรด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ LekOboT เพื่อให้บุคลากรรุ่นใหม่ของประเทศไทย ทั้งนักเรียนและนักศึกษามีความรู้ในด้านเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ และสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติได้ โดยมีพิธีเปิดการอบรมเมื่อ วันที่ 30 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม 1 อาคารวิจัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ น.สพ. ดร. อภินันท์ สุประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน รองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวรายงานและ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรศักดิ์ สวัสดี รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ กล่าวต้อนรับ โดยมีคณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วยคณะครู นักเรียน จากโรงเรียนต่างๆ ที่เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ รวมทั้งสิ้น กว่า 80 คน

ศาสตราจารย์ น.สพ. ดร. อภินันท์ สุประเสริฐ กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทางสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากรร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ ได้จัดฝึกอบรม โครงการ “การสร้างนวัตกรด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ LekOboT ระยะที่ 1” ในครั้งนี้ เพื่อให้นักเรียน/นักศึกษาได้ใช้เป็นเครื่องมือประกอบการเรียน การทำโครงงานทางวิทยาศาสตร์ และเสริมความรู้ในรายวิชาการออกแบบเทคโนโลยี หรือรายวิชาการใช้ประโยชน์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่อเชื่อมโยงกับโครงการสเต็มศึกษา (STEM Education) อันจะเป็นการเตรียมความพร้อมของบุคลากรรุ่นใหม่ของประเทศไทยทั้งนักเรียนและนักศึกษาให้มีความตระหนักรู้ในด้านเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ มีความพร้อมในการก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 และยังเป็นการเตรียมตัวเข้าสู่ ยุคไทยแลนด์ 4.0 ในกลุ่ม Automation และ Robotics ที่รัฐบาลต้องการการเปลี่ยนแปลงจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและทักษะสูงอันเป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันอีกด้วย

ทั้งนี้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เป็นเครื่องพิมพ์ที่ใช้ในการสร้างชิ้นงานที่ออกแบบโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในกลุ่ม CAD (Computer Aided Design) คือ รูปทรงที่ประกอบด้วยความกว้าง ความยาว และความหนาหรือลึก โดยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ มีความสามารถในการพิมพ์ชิ้นงานพลาสติกในกลุ่ม ABS (Acrylonitrile-Butadiene-Styrene), PLA (Polylactic Acid) และ Nylon เครื่องพิมพ์ 3 มิติเหมาะกับการใช้ในการสร้างชิ้นงานจำนวนน้อยชิ้นและต้องการได้ชิ้นงานอย่างเร่งด่วน

รองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาเครื่องพิมพ์ 3 มิติ LekOboT ที่มีเป้าหมายหลักใช้งานโดยนักเรียน/นักศึกษา ในการใช้เป็นเครื่องมือประกอบการเรียน การทำโครงงานทางวิทยาศาสตร์ โดยเครื่องพิมพ์ที่ได้นั้นมีความซับซ้อนต่ำ สามารถหาชิ้นส่วนในการจัดสร้างและ/หรือซ่อมแซมได้ง่ายและราคาถูก โดยยังคงไว้ซึ่งขีดความสามารถของการทำงานเทียบเท่าเครื่องพิมพ์จากต่างประเทศ เครื่องพิมพ์ที่ได้นั้นมีข้อได้เปรียบที่ชัดเจน คือ สามารถประกอบและซ่อมแซมได้ง่าย เน้นการใช้วัสดุที่สามารถหาได้โดยทั่วไปในประเทศไทยในการสร้างระบบขับเคลื่อน

เครื่องพิมพ์ 3 มิติ LekOboT ที่ได้พัฒนาขึ้นนี้ได้รับรางวัลการประกอบ ระดับภาค ระดับชาติ และระดับนานาชาติ
-รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทรางวัลนวัตกรรมเชิงพาณิชย์-ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม (Product IP) จากงาน STSP Innovation Awards 2015
-รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นระดับ “ดี” จากสภาวิจัยแห่งชาติในปี พ.ศ.2558
-รางวัลจากมูลนิธิเทโรเพื่อการวิจัยวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย
-รางวัล “เหรียญเงิน” จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ในงาน Geneva Inventions 2015



ประมวลภาพ

ข่าว/ภาพ ชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร