Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ผอ.สกว.เยี่ยมชมผลงานวิจัยของอาจารย์สำนักวิชาการจัดการในพื้นที่จังหวัดกระบี่

อัพเดท : 29/04/2561

1856





ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุภาวดี โพธิยะราช ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายทุนวิจัยมุ่งเป้า และผู้บริหาร ตลอดจนบุคลากรของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เยี่ยมชมและติดตามผลการดำเนินการวิจัยในจังหวัดกระบี่ โดยมีตัวแทนภาคธุรกิจท่องเที่ยวร่วมเสวนาและพูดคุยถึงการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย อาทิ คุณอมฤต ศิริพรจุฑากุล ที่ปรึกษาประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ คุณธีระพจน์ กษิรวัฒน์ อดีตนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเกาะลันตา เป็นต้น ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้การสนับสนุนงบประมาณการวิจัยในจังหวัดกระบี่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบันด้วยงบประมาณ 18 ล้านบาท กับ 7 แผนงานวิจัย และมีนักวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Tbus) สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นหัวหน้าโครงการ โดยมีแผนงานวิจัยที่สำคัญ ดังนี้

1. การพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จังหวัดกระบี่ พ.ศ. 2556 โดยมี ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ เป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัย โดยผลงานวิจัยนี้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยเด่น สกว. พ.ศ. 2557 ด้านชุมชน
2. แนวทางการพัฒนาพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม จังหวัดกระบี่อย่างยั่งยืน พ.ศ. 2557 โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ เป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัย โดยผลงานวิจัยนี้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยเด่น สกว. พ.ศ. 2558 ด้านนโยบาย
3. การพัฒนาการท่องเที่ยวสีเขียว จังหวัดกระบี่ พ.ศ. 2558 โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ เป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัย
4. การพัฒนาการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับมุสลิมในพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน กรณีศึกษาจังหวัดกระบี่ พังงาและภูเก็ต พ.ศ. 2560 โดยมีอาจารย์สุชาติ ฉันสำราญ เป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัย
5. แนวทางการพัฒนาและบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่การเป็นสปาทาวน์ของอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ พ.ศ. 2560 โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ เป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัย

โดยนักวิจัยประกอบไปด้วย ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Tbus) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ อาจารย์สุชาติ ฉันสำราญ สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดรรชนี เอมพันธุ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และดร.สุรศักดิ์ ชูทอง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เข้าร่วมประชุมและนำเสนอผลงานวิจัยด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดกระบี่ โดยผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ให้คำแนะนำต่อนักวิจัยในการขับเคลื่อนและดำเนินการวิจัยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต่อไป รวมถึงได้ขอบคุณนักวิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่เข้าร่วมติดตามการดำเนินการวิจัยในพื้นที่จังหวัดกระบี่ในครั้งนี้ ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ ได้นำผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และคณะลงพื้นที่พุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์เชิงนโยบายในการพัฒนาเป็นเมืองสปาต้นแบบอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ โดยได้นำชมบ่อต้นกำเนิดน้ำพุร้อนเค็ม และสภาพพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกในพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม

โดยการขับเคลื่อนงานวิจัยในพื้นที่จังหวัดกระบี่ระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นการขับเคลื่อนภายใต้รูปแบบพันธกิจสัมพันธ์กับองค์กรชุมชนอย่างแท้จริง เพราะมีภาคีและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นผู้พัฒนาโจทย์วิจัย โดยแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ โดยใช้ฐานจากงานวิจัย และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องเพื่อการแก้ไขปัญหาและกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยประเด็นปัญหาในการดำเนินการวิจัยมีความเชื่อมโยงต่อเนื่องภายใต้การกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหา และนำผลการวิจัยมากำหนดนโยบายและแนวทางในการบริหารจัดการ



ดร.พิมพ์ลภัสกล่าวว่า “จุดเริ่มต้นของงานวิจัยในจังหวัดกระบี่ เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 โดยท่านประสิทธิ์ โอสถานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ในขณะนั้นเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนจังหวัดบนฐานงานวิจัย และได้จัดประชุมพัฒนาโจทย์วิจัยเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ในระยะยาวร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ ซึ่งผู้ที่มีบทบาทสำคัญอีกท่านคือ คุณวิยะดา ศรีรางกูล ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกระบี่ในขณะนั้น โดยในบทบาทพ่อเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ในขณะนั้นได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการมีนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียและจีนเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดกระบี่มากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวโดยภาพรวม จึงเป็นจุดเริ่มต้นของงานวิจัยในปี พ.ศ. 2556 งานวิจัยที่เราทำในปีนั้นทำให้จังหวัดได้แผนและแนวทางในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่ในเกาะลันตา จังหวัดกระบี่เพื่อมุ่งตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพตามปฏิญญากระบี่ การเป็นเมืองท่องเที่ยวคุณภาพที่มีชื่อเสียงระดับโลก”

“ทั้งนี้ การทำงานวิจัยในยุคปัจจุบันไม่ใช่แต่เพียงเขียนโครงการ รับงบประมาณ ทำตามสัญญา และเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม จนถึงเขียนรายงานการวิจัย แต่คณาจารย์จากศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Tbus) ได้เข้าร่วมประชุมกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่าปัญหาของการท่องเที่ยวที่สำคัญในจังหวัดกระบี่ในขณะนั้นมีอีก 2 ประการ คือ การขับเคลื่อนเมืองท่องเที่ยวสีเขียว และปัญหาความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยวพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และมีข้อสรุปร่วมกันถึงการแก้ไขปัญหาพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อมเป็นอันดับแรก เพราะปัญหาเร่งด่วนเนื่องจากการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยปราศจากแผนและแนวทางพัฒนาแบบองค์รวมทำให้สภาพพื้นที่ภายหลังการพัฒนาค่อนข้างเสื่อมโทรม ต้นไม้ถูกตัดโค่น สภาพพื้นที่แห้งแล้งและขาดร่มเงา รวมถึงปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เราจึงเข้าไปแก้ไขปัญหาดังกล่าว” ผศ.ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าว

ผศ.ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าวต่อว่า “ภายใต้งานวิจัยนี้ เราใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยที่บูรณานักวิจัยจากหลายมหาวิทยาลัยโดยมุ่งหวังแก้ไขปัญหาทั้งระบบทั้งข้อมูลธรณีวิทยา ข้อมูลเศรษฐกิจและสังคมชุมชนท้องถิ่น และการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ผลการวิจัยเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่สำคัญต่อโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่เนื่องจากพื้นที่มีความเปราะบางค่อนข้างสูง และงานวิจัยนี้ได้พัฒนาแนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนภายใต้การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ และการออกแบบพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและระบบสื่อความหมายในแหล่งท่องเที่ยว ที่สำคัญ ผลการวิจัยนี้นำไปสู่การขับเคลื่อนร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ในการกำหนดนโยบายเมืองสปาต้นแบบของประเทศไทย และในที่สุด คณะรัฐมนตรีได้มีมติจัดตั้งเมืองสปาต้นแบบอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่”

 

“ต้องขอบคุณทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุภาวดี โพธิยะราช ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายทุนวิจัยมุ่งเป้า ในการนำผลงานวิจัยไปผลักดันในเชิงนโยบาย จนนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่สำคัญของประเทศ และหลังจากโครงการพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ดำเนินการแผนงานวิจัย การจัดการธุรกิจท่องเที่ยวสีเขียวเพื่อสร้างแบรนด์การท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ การพัฒนา Muslim Friendly Destination และการพัฒนาระบบการบริหารจัดการเมืองสปาต้นแบบอำเภอคลองท่อมจังหวัดกระบี่ เพื่อให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานการพัฒนาเมืองสปาต้นแบบ เราไปเก็บข้อมูลเมืองสปาต้นแบบระดับนานาชาติจากเมืองนูมาตะ เมืองมินาคามิ และเมืองเบปปุ ประเทศญี่ปุ่น และเมือง Karlovy Vary ประเทศสาธารณรัฐเช็กเพื่อนำมาพัฒนาเมืองสปาต้นแบบอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่” ดร.พิมพ์ลภัส กล่าว


“นอกเหนือจากแผนงานวิจัยที่คณาจารย์จากศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Tbus) รับผิดชอบหลักเป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัย ยังมีงานโครงการย่อยที่ทำร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอื่นอีกหลายโครงการ ได้แก่ การพัฒนาระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ การพัฒนาแนวทางการพัฒนาทุนมนุษย์ของสถาบันการอาชีวศึกษาในจังหวัดกระบี่ รวมถึงการกำหนดขีดความสามารถในการรองรับทางการท่องเที่ยวด้านกายภาพ จิตวิทยา เศรษฐกิจและสังคมของหมู่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ โดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่อย่างยั่งยืน

โดยความสำเร็จของผลงานวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Tbus) มาจากความร่วมมือทุกภาคส่วนตั้งแต่แหล่งทุน ผู้ใช้ประโยชน์งานวิจัย นักวิจัย ผู้ให้ข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ทุกท่านที่ให้ความร่วมมือและเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนจังหวัดด้วยงานวิจัย และต้องขอบคุณสถาบันวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่สนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Tbus)” ดร.พิมพ์ลภัส กล่าว

อนึ่ง การดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Tbus) ไม่ได้จำกัดเฉพาะจังหวัดกระบี่ โดยยังมีการดำเนินงานในจังหวัดอื่น ๆ ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เกาะพะงัน และเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา จังหวัดสตูล จังหวัดตรัง จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา และภูมิภาคอื่นอาทิ เชียงคาน จังหวัดเลย เกาะช้าง จังหวัดตราด จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น

ประมวลภาพ
รายละเอียดเพิ่มเติม : https://ocd.wu.ac.th/photo/index.php/event/wuphoto/27046102