Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ผศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ ได้รับเชิญนำเสนอผลงานวิจัยเด่นในการประชุม “อนาคตประเทศไทย โจทย์วิจัยเพื่อประชาชน”

อัพเดท : 25/06/2561

1568

4JiLdz.jpg

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ และอาจารย์สุชาติ ฉันสำราญ อาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารธุรกิจ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับเชิญจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นำผลงานวิจัยร่วมนำเสนอในการประชุม "อนาคตประเทศไทย โจทย์วิจัยเพื่อประชาชน” นำเสนอโจทย์วิจัยสำหรับขอทุนวิจัยงบประมาณแผ่นดิน เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร โดยมีนักวิจัยจำนวนมากจากทั่วทุกภูมิภาคของทั่วประเทศไทยมาร่วมงาน

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดกิจกรรมดังกล่าว เพื่อนำเสนอโจทย์วิจัยสำหรับขอทุนวิจัยงบประมาณแผ่นดินในทุก ๆ ด้าน โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้มีการคัดเลือกผลงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 2 ผลงานไปนำเสนอร่วมกับอีก 6 ผลงานวิจัยทางด้านการท่องเที่ยวจากทุกภูมิภาคของประเทศไทย ได้แก่

1. แผนงานวิจัย แนวทางการพัฒนาพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม จังหวัดกระบี่อย่างยั่งยืน โดยมีคณะนักวิจัยดังนี้
ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์
หัวหน้าโครงการย่อย 1 ดร.กำแหง วัฒนเสน
หัวหน้าโครงการย่อย 2 ดร.สมจินตนา คุ้มภัย
หัวหน้าโครงการย่อย 3 ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์

แผนงานวิจัยนี้เคยได้รับรางวัลผลงานวิจัยเด่นด้านนโยบาย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ปี พ.ศ. 2558 โดยพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณค่า เนื่องจากเป็นแหล่งน้ำพุร้อนเค็มที่มีเพียงไม่กี่แห่งในโลก แต่ได้รับการพัฒนาแบบไร้ทิศทาง ทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม ส่งผลกระทบต่อผู้มาใช้บริการเนื่องจากไม่มีร่มเงา ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตของผู้มาใช้บริการ ทางองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยน้ำขาว และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกระบี่จึงได้ร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในการดำเนินงานวิจัยด้วยการนำองค์ความรู้ด้านธรณีฟิสิกส์จากนักวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มาประยุกต์ใช้กับองค์ความรู้ด้านบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยว ในการพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อมอย่างยั่งยืน รวมถึงแนวทางในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของพื้นที่ โดยผลงานวิจัยนี้มีความโดดเด่นคือ
- สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยนำผลการวิจัยในการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และนำไปสู่การอนุมัติจัดตั้งเมืองสปาต้นแบบอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่
- องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยน้ำขาวนำแผนการพัฒนาพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อมไปขอรับงบประมาณในการปรับปรุงพื้นที่ตามแนวทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และได้รับงบประมาณจากจังหวัดกระบี่ 15 ล้านบาท
- ชุมชนท้องถิ่นมีการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวใหม่เพื่อรองรับการท่องเที่ยว ได้แก่ การล่องเรือ การเก็บหอยตลับ การดักกุ้งเคย เป็นต้น
- ผลการวิจัยนำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ โดยปลูกต้นฝาดดอกแดง ซึ่งเป็นไม้ท้องถิ่นที่สวยงาม และสามารถเติบโตได้ในพื้นที่ เป็นร่มเงาให้กับนักท่องเที่ยว

2. แผนงานวิจัย การพัฒนาการท่องเที่ยวสีเขียวในจังหวัดกระบี่ โดยมีคณะนักวิจัยดังนี้
ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์
หัวหน้าโครงการย่อย 1 ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์
หัวหน้าโครงการย่อย 2 อาจารย์สุชาติ ฉันสำราญ
หัวหน้าโครงการย่อย 3 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์

งานวิจัยนี้เริ่มต้นจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการท่องเที่ยวในจังหวัดกระบี่ต้องการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามปฏิญญากระบี่ ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นในการกำหนดแนวทางการพัฒนาเมืองต้นแบบทางด้านการท่องเที่ยวสีเขียว การพัฒนาธุรกิจสีเขียว รวมไปถึงการสร้างแบรนด์การท่องเที่ยวสีเขียว โดยมุ่งเน้นในการพัฒนาให้จังหวัดกระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยวสีเขียว ที่ดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม มีการกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น รับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินงานของธุรกิจร่วมกัน และสามารถนำไปดำเนินการตลาดเชิงรุกในการขยายฐานนักท่องเที่ยวคุณภาพต่อไป โดยผลงานวิจัยนี้มีการนำไปใช้ประโยชน์ ดังนี้
- ชุมชนท่องเที่ยวทุ่งหยีเพ็งได้ประยุกต์แนวทางการพัฒนาเมืองต้นแบบด้านการท่องเที่ยวสีเขียวไปขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชน
- สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวหมู่เกาะลันตานำแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวสีเขียวไปขับเคลื่อนแผนการพัฒนาเมืองลันตาสีเขียว (Lanta Go Green)
- โรงแรมเชียงคาน ริเวอร์เมาเท่น รีสอร์ท อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และโรงแรมเลยวิลเลจ ประยุกต์ผลงานวิจัยไปดำเนินการพัฒนาโรงแรมสีเขียว และได้รับรางวัลเหรียญเงินและเหรียญทองแดง ตามลำดับ จากโครงการโรงแรมสีเขียว กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมในการดำเนินการปีแรก

ทั้งนี้ การดำเนินงานวิจัยของอาจารย์ในหลักสูตรบริหารธุรกิจได้รับทุนสนับสนุนจากแหล่งทุนวิจัยภายนอกมหาวิทยาลัย และมีการนำนักศึกษาในหลักสูตรบริหารธุรกิจร่วมลงพื้นที่เรียนรู้การทำงานจากสถานการณ์จริง เพื่อพัฒนาบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถ และสามารถประยุกต์ใช้ในการทำงานจริงได้

ข้อมูลติดต่อเพื่อขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยี
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โทร. 075 672251 อีเมล์ psiwarit@gmail.com


4JiGnq.jpg 4JsjgR.jpg 4Jivxa.jpg 4JPpNq.jpg 4JPGr8.jpg 4JPL0R.jpg