Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

นายกฤษดา หนูเล็ก : นักศึกษารางวัลพระราชทาน ประจำปีการศึกษา 2560 สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ม.วลัยลักษณ์

อัพเดท : 10/09/2561

8985

นายกฤษดา (น้องฮอร์น) หนูเล็ก นักศึกษาสำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ม.วลัยลักษณ์ นักศึกษารางวัลพระราชทาน ประจำปีการศึกษา 2560 ระดับอุดมศึกษาขนาดกลาง โดยจะเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานรางวัล จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

“น้องฮอร์น” สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนชัยเกษมวิทยา จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เข้าศึกษาต่อที่สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ สาขาออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในปีการศึกษา 2557 สำเร็จการศึกษาและจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในวันที่ 25 กันยายน 2561 ที่จะถึงนี้



“น้องฮอร์น” เล่าว่า รู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ นับเป็นเกียรติประวัติสูงสุดในชีวิต เป็นความภาคภูมิใจทั้งของตนเองและครอบครัว ผลกำไรที่ได้จากการทุ่มเททั้งการเรียนและทำกิจกรรมตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่ศึกษาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอบคุณมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพ ให้เป็นทั้งคนดีและคนเก่งของสังคม ขอบคุณครอบครัวที่คอยให้การสนับสนุน ขอบคุณทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมส่งเสริมการเรียนรู้มาด้วยกัน ซึ่งรางวัลแห่งความภาคภูมิใจนี้ไม่ใช่เป็นของตนเองแต่เพียงผู้เดียว แต่ ขอมอบให้เป็นความภาคภูมิใจของทุกคนและทุกฝ่ายที่คอยสนับสนุนมาโดยตลอด ทั้งนี้ตนจะรักษาคุณงามความดีให้สมคุณค่าของการเป็นนักศึกษารางวัลพระราชทาน พร้อมกับน้อมนำพระบรมราโชวาทปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต

น้องฮอร์น” เล่าให้ฟังถึงการเลือกเรียนหลักสูตรการออกแบบอุตสาหกรรม สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ม.วลัยลักษณ์ ว่า ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าจะศึกษาต่อทางด้านนี้และโชคดีที่มีรุ่นพี่โรงเรียนมาเรียนต่อที่นี่และได้เล่าประสบการณ์การเรียน ทั้งชีวิตความเป็นอยู่ในมหาวิทยาลัยและความพร้อมของการจัดการเรียนการสอน บรรยากาศและภูมิทัศน์ที่สวยงาม มีความเป็นธรรมชาติ ทั้งหมดคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ตนตัดสินใจเลือก ม.วลัยลักษณ์ และในวันมาสัมภาษณ์ได้สัมผัสกับตนเองทำให้รู้สึกประทับใจมาก ที่สำคัญ 4 ปีที่ผ่านมาทำให้รู้ว่า ตนคิดไม่ผิดและไม่เคยผิดหวัง ที่เลือกเรียนที่ ม.วลัยลักษณ์

การเรียนการสอนของสำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ โดยเฉพาะในสาขาการออกแบบอุตสาหกรรม เป็นการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติงานจริง นำศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น วิทยาการต่างๆ ตลอดจนทรัพยากรทางธรรมชาติในพื้นที่มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นการออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนหรือกลุ่มเป้าหมายโดยแท้จริง ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ค่อนข้างได้เปรียบในเชิงพื้นที่ เพราะตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนที่เต็มไปด้วยศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและอยู่ใกล้แหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติทั้งป่า เขา ทะเล โดยทางสำนักวิชาได้จัดการเรียนการสอนให้นักศึกษาได้ลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติงานกับชุมชน ทำให้ได้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพจริงๆ นับว่าได้ทั้งความรู้และประสบการณ์นอกเหนือจากการเรียนภาคทฤษฏีในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว เช่น การลงพื้นที่ ต้องไปพูดคุยกับผู้คนหลายช่วงวัย เรียนรู้วิธีสื่อสาร โน้มน้าวใจให้ทดลองหรือสนใจการนำเสนองาน และผลงานการออกแบบเหล่านั้นในวิชาเรียนยังสามารถช่วยเหลือชุมชน ทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยังสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการทำชิ้นงานประกวดในเวทีต่างๆ ทั้งระดับมหาวิทยาลัย ระดับจังหวัด ระดับชาติหรือนานาชาติได้อีกด้วย

“น้องฮอร์น” เล่าต่อถึงการได้เป็นนักศึกษารางวัลพระราชทานว่า ผู้ได้รับรางวัลนี้ต้องมีคุณสมบัติพื้นฐาน 5 ด้าน คือ 1)ผลการศึกษา ต้องมีเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.75 2)ด้านการมีทักษะในการจัดการและการทำงาน 3)ด้านสุขภาพและอนามัย 4)ความประพฤติ คุณธรรม จริยธรรมและ 5)ด้านอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม และสิ่งสำคัญ คือ ด้านผลงานดีเด่น ซึ่งด้านนี้ถือเป็นความโชคดีของนักศึกษา ม.วลัยลักษณ์ ที่คณาจารย์ รุ่นพี่และทุกฝ่ายได้สนับสนุนให้นักศึกษาทำกิจกรรมควบคู่ไปกับการเรียน มีผลงานไปประกวดแข่งขันในเวทีต่างๆ ทั้งระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค ระดับชาติและนานาชาติอยู่เสมอ รางวัลที่ได้กลับมาทำให้มีแรงผลักดันให้อยากทำต่อ

จากการส่งผลงานเข้าประกวดหลายๆเวทีที่ผ่านมา มีผลงานที่ภาคภูมิใจหลายชิ้น เช่น งานประกวดที่ได้รับการสนับสนุนจากอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.วลัยลักษณ์ โดยความร่วมมือกับกรมพัฒนาสินค้าและออกแบบผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้หัวข้อ “การประกวดทรัพยากรชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจไทยกับฐานชีวิตสู่เศรษฐกิจชาติ” ซึ่งตนเองได้ออกแบบบรรจุภัณฑ์น้ำส้มจากและน้ำตาลจากให้แก่กลุ่มวิสาหกิจ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งจากเดิมมูลค้าของสินค้าทั้งสองชนิดนี้ราคาตกต่ำ แต่ด้วยบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและอีกวัตถุประสงค์สำคัญ คือ การรณรงค์เพิ่มพื้นที่ปลูกจากให้ชาวปากพนังเพื่อลดพื้นที่การทำนากุ้ง และช่วยให้คนรุ่นใหม่ กลับมาอยู่บ้านอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่รุ่นปู่ยาตายายหรือพ่อแม่ได้ทำไว้ และนำเอาความรู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมาพัฒนาต่อยอดให้ดียิ่งๆขึ้นไป อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยั่งยืน

สิ่งที่ได้จากการทำกิจกรรม ส่งชิ้นงานเข้าประกวดในเวทีต่างๆ นอกจากได้ประสบการณ์ใหม่ๆแล้ว ยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ความคิดกับเพื่อนจากมหาวิทยาลัยอื่นๆทั่วโลก และสามารถนำประสบการณ์นั้นกลับมาแบ่งปันกับเพื่อนคนอื่นๆในสำนักวิชาของมหาวิทยาลัยเราได้อีกด้วย

“น้องฮอร์น” ฝากถึงน้องๆที่กำลังศึกษาอยู่ในขณะนี้ว่า อยากให้น้องๆใช้ชีวิตและเวลาในรั้วมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้คุ้มค่า เพราะเราโชคดีที่ ม.วลัยลักษณ์ ให้การสนับสนุนเราในทุกๆด้าน มีความพร้อมให้น้องๆได้เลือกเดินไปบนเส้นทางวิชาชีพที่ตั้งใจ สำหรับน้องๆ ชั้นม.ปลาย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะทำให้น้องๆประทับใจ ตั้งแต่แรกพบ ตั้งแต่ทัศนียภาพ การเรียนการสอน สังคมและเพื่อนๆ ที่จะทำให้เราอยากอยู่ที่นี่นานๆ และสำหรับผู้ที่สนใจด้านการออกแบบ สำนักวิชาสถาปัตยกรรมและการออกแบบ ม.วลัยลักษณ์ ขณะนี้ มีครบทุกศาสตร์ด้านการออกแบบให้น้องๆได้เลือกเรียน ทั้งสาขาสถาปัตยกรรม สาขาออกแบบอุตสาหกรรม สาขาการออกแบบภายในและภูมิสถาปัตยกรรม จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนมาเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์และสิ่งดีๆจากที่นี่ ม.วลัยลักษณ์ ยินดีต้อนรับทุกคนเสมอ



ชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง