Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ม.วลัยลักษณ์ ชวนเยาวชนร่วมโครงการ “Coding at School Project” เฟ้นหาสุดยอดโครงงานนวัตกรรมด้วยบอร์ด KidBright ตัวแทนภาคใต้

อัพเดท : 19/09/2561

1765



ม.วลัยลักษณ์ โดยสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเป็นศูนย์ประสานงาน จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ในการดำเนินโครงการ “ความร่วมมือศูนย์ประสานงานเพื่อเข้าร่วมจัดกิจกรรมสื่อการสอนโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน (Coding at School Project)” เพื่อสร้างพื้นฐานความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ให้กับเยาวชน ฝึกทักษะการคิดอย่างเป็นระบบด้วยการใช้โปรแกรมมิ่งผ่านบอร์ด KidBright โดยกำหนดพิธีมอบทุนและเข้าค่าย Workshop พร้อมพิจารณาคัดเลือกรอบที่ 2 (รอบนำเสนอ) โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษา และนักเรียนจาก 9 โรงเรียน ทั่วภาคใต้เข้าร่วม กว่า 150 คน เมื่อวันที่ 15-16 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา ณ อาคารวิจัย ม.วลัยลักษณ์



โอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ ประธานกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมโครงการ โดยได้รับเกียรติจากคณาจารย์และนักศึกษาสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากรเป็นทีมTrainers ให้คำปรึกษา ได้แก่ อาจารย์กรกต สุวรรณรัตน์ หัวหน้าทีม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุรักษ์ ถุงทอง และนางณัฐวรรณ แก้วรัตน์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ กล่าวแสดงความยินดีกับนักเรียนและคณาจารย์เจ้าของโครงงาน ทั้ง 15 โครงงาน จาก 9 โรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบนำเสนอผลงานในครั้งนี้ ทุกโครงงานถือเป็นสุดยอดผลงานที่คณะกรรมการได้คัดเลือกมาจาก 85 โครงงานที่ส่งเข้าประกวดจากหลายโรงเรียนในพื้นที่ภาคใต้ ขอชื่นชมในความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ความสามารถที่นำบอร์ด KidBright มาสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำไปใช้พัฒนาต่อยอด เป็นโมเดลในการใช้ประโยชน์จริงในอนาคต ขณะนี้น้องๆนักเรียนยังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น สำหรับผู้ที่ชื่นชอบวิทยาศาสตร์และมีความใฝ่ฝันในด้านนี้ ยังมีเวลาอีกมากให้ทุกคนได้ค้นคว้าหาความรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากเวทีการประกวดแข่งขันและคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆเพื่อแก้ปัญหาหรือตอบโจทย์ความต้องการในด้านต่างๆ ของประเทศ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน ทุกโครงงานที่ผ่านเข้ารอบนี้ ซึ่งการเข้าค่าย Workshop ตลอดทั้ง 2 วัน น้องๆนักเรียนจะได้รับคำแนะนำจากทีม Trainers ซึ่งเป็นคณาจารย์ นักวิชาการ และนักศึกษาของสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร ม.วลัยลักษณ์ ซึ่งคณาจารย์ทั้ง 2 ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญ ขอให้ทุกคนถือโอกาสนี้สอบถาม แลกเปลี่ยนเก็บเกี่ยวความรู้ให้เต็มที่ รวมทั้งทีมนักวิชาการและพี่ๆนักศึกษาที่จะคอยให้คำแนะนำและช่วยเหลือน้องๆทุกคน หลังจากนั้นคณะกรรมการจะทำการคัดเลือกสุดยอดโครงงานเพียง 4 โครงงานผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ เป็นตัวแทนภาคใต้ ไปแข่งขันกับอีก 5 ภูมิภาคในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการของ (NECTEC) ประจำปี 2561 NECTEC Annual Conference and Exhibitions 2018 (NECTEC ACE 2018) “ประเทศไทยก้าวไกล ด้วยงานวิจัยใช้ได้จริง”



ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะได้ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ในการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างพื้นฐานความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ให้เยาวชนได้ฝึกทักษะการคิดอย่างเป็นระบบด้วยการใช้โปรแกรมมิ่งผ่านบอร์ด KidBright ในโอกาสต่อไปอีก หากอาจารย์หรือน้องๆนักเรียน มีความต้องการที่จะเพิ่มพูนความรู้เรื่องใดที่เกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ ขอให้แจ้งขอใช้บริการได้ที่ ศูนย์บริการวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ ได้ตลอดเวลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ กล่าว

กิจกรรมโครงการ “ความร่วมมือศูนย์ประสานงานเพื่อเข้าร่วมจัดกิจกรรมสื่อการสอนโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน (Coding at School Project)” ตลอด 2 วัน ประกอบด้วย การแนะนำแนวปฏิบัติโรงการอบรม ค่าย 2 กิจกรรมปรึกษาปัญหาการทำโครงงานกับผู้เชี่ยวชาญ การพัฒนาโครงงานให้สมบูรณ์และการนำเสนอผลงาน 15 โครงงาน จาก 9 โรงเรียน 3 สาขา คือ 1)สาขาสิ่งแวดล้อม จำนวน 1 โครงงาน 2) สาขาเกษตร จำนวน 5 โครงงาน 3) สาขาบ้าน/โรงเรียน จำนวน 9 โรงงาน

โดยมีโครงงานที่ผ่านการตัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ จำนวน 4โครงงาน ได้แก่

1) โครงงานระบบแจ้งเตือนเหตุอุทกภัย สาขาสิ่งแวดล้อม ผู้พัฒนา ด.ช.นิธิศ ธำรงเทพพิทักษ์ (หัวหน้าทีม)และนายภัทรกร คงวงศ์ อาจารย์ที่ปรึกษา นางสุวิมล ถนอมผลและนายอเนก ถนอมผล จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.ตรัง

2) โครงงานนวัตกรรมเครื่องตากปลาอัจฉริยะ สาขาเกษตร ผู้พัฒนา ด.ช.ศิวกร ด้วงชู (หัวหน้าทีม) ด.ช.อรรถพล ประเสริฐและ ด.ญ.กรรณิการ์ สิงห์ทอง อาจารย์ที่ปรึกษา นางสาวอาร์ซีซ๊ะ ดินอะ จากโรงเรียนสทิงพระวิทยา จ.สงขลา

3) โครงงานระบบควบคุมการรดน้ำภายในโรงเพาะเห็ดอัตโนมัติ สาขาเกษตร ผู้พัฒนา ด.ช.ธนพล รักรอด (หัวหน้าทีม) ด.ช.วิริทธิ์พล สายสามพราน อาจารย์ที่ปรึกษา นางอรุณโรจน์ ยิ่งคำนึงและนางอมลวรรณ นาคกุล จากโรงเรียนบ้านปลายคลอง จ.สุราษฏร์ธานี

4) โครงงาน “ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์” : การประดิษฐ์เครื่องดนตรีอย่างง่ายด้วยบอร์ด KidBright สาขาบ้าน/โรงเรียน ผู้พัฒนา ด.ญ.รวิพร รอดภัย (หัวหน้าทีม) ด.ญ.กันธิมา บุญเกิดและด.ช.ฑิฆัมพร ไชยณรงค์ อาจารย์ที่ปรึกษา นายปิยะ พละคชและนายชัยนุรักษ์ ศรีวิสุทธิ์ จากโรงเรียนท่าศาลาประสิทธิ์ศึกษา จ.นครศรีธรรมราช

โอกาสเดียวกันนี้ ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.จรัญ บุญกาญจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและรักษาการแทนคณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยาการ ม.วลัยลักษณ์ กล่าวปิดโครงการและมอบทุนสนับสนุนให้แก่โครงงานที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกเข้ารอบที่ 1 โครงงานละ 1,000 บาท จำนวน 15 โครงงานและมอบรางวัลแก่ข้อเสนอโครงงานที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบชิงชนะเลิศ จำนวน 4 โครงงาน พร้อมด้วย คุณเสกสรร ศาสตร์สถิต หัวหน้าห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ให้เกียรติมอบวุฒิบัตรให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้อีกด้วย

ประกาศรายชื่อโครงงานผ่านรอบ 1

ประมวลภาพ

ข่าว : ชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร
ภาพ : สุขุม ศรีสมบัติ ศูนย์บริการวิชาการ