Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ จับมือ ภาคีเครือข่ายถ่ายทอดองค์ความรู้ธนาคารปูม้า เพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลไทย

อัพเดท : 17/12/2561

1755



ศูนย์บริการวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการการขยายผลธนาคารปูม้า "คืนปูม้าสู่ทะเลไทย" ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชภายใต้การสนับสนุนดำเนินงานจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายความร่วมมือในพื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี สำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เขต 3 (สุราษฎร์ธานี) ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยตอนกลาง(ชุมพร) เครือข่ายประมงพื้นบ้าน และผู้ประกอบการแพปู จัดโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้จากการวิจัยเพื่อประโยชน์ในการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ "คืนปูม้าสู่ทะเลไทย" ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ภายใต้การการสนับสนุนงบประมานจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โดยในพิธีเปิดได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.อภินันท์ สุประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม กล่าวรายงาน โดยประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเข้าร่วมกว่า200 คน ณ ธนาคารปูม้าบ้านในถุ้ง หมู่ที่ 5 ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช



ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีความยึดมั่นในวิสัยทัศน์ "เป็นหลักในถิ่น" โดยมีศูนย์บริการวิชาการ ทำหน้าที่ประสานงานคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย เพื่อนำองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมในมหาวิทยาลัยไปประยุกต์ใช้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนยกระดับคุณภาพชีวิตในภาพรวม ทั้งมิติ อาชีพ สุขภาพ การศึกษา สังคมวัฒนธรรม และมิติของการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยทุกปีงบประมาณคณาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะดำเนินโครงการหรือจัดกิจกรรมบริการวิชาการ รวมทั้งวิชาการรับใช้สังคมไม่น้อยกว่า 200 โครงการ ทั้งที่ได้รับงบประมาณจากภายนอกและภายในมหาวิทยาลัยเพื่อตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาของชุมชน



ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.อภินันท์ สุประเสริฐ กล่าวว่า การจัดอบรมเชิงปฎิบัติการระดับจังหวัดเพื่อการขยายผลธนาคารปูม้า "คืนปูม้าสู่ทะเลไทย" ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างธนาคารปูม้าในพื้นที่ซึ่งชุมชนมีความต้องการและมีความเหมาะสมในเชิงพื้นที่จำนวน 60 แห่ง และสร้างศูนย์การเรียนรู้ธนาคารปูม้าเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะต่างๆในการทำธนาคารปูมาให้กับชุมชนใกล้เคียงรายรอบและสร้างความตระหนักในการฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า โดยมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเพิ่มรายได้ให้กับชาวประมง รักษาซึ่งระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมอันจะเป็นแนวทางการจัดการทรัพยากรปูม้าเพื่อความยั่งยืนโดยชุมชนมีส่วนร่วม

การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ประกอบด้วย การบรรยายและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ การบรรยายพิเศษ ภาพรวมโครงกา ร"คืนปูม้าสู่ทะเลไทย" ตามมติคณะรัฐมนตรี โดย นางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ บรรยายพิเศษ แนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช โดย นายพรศักดิ์ ศักดิ์ธานี ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช บรรยายพิเศษ ยุทธศาสตร์และแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งตำบลท่าศาลา โดย นาย อภินันท์ เชาวลิต นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา บรรยายพิเศษ แนวทางการเพาะเลี้ยงลูกปูม้าและเทคนิคการเขี่ยไข่ปูม้าในกรณีที่ปูม้าตาย โดย นางสิริวรรณ หนูเซ่ง นักวิชาการประมงชำนาญการกรมประมง การพูดคุยเกี่ยวกับระบบสาระสนเทศทางภูมิศาสตร์เพื่อกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปล่อยลูกปูม้า โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จันทิรา รัตนรัตน์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ การพูดคุยทางด้านกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรปูม้า และทรัพยากรประมงอื่นๆ โดยนายธีรพงศ์ ไกรนรา หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการประมง กรมประมง และการพูดถึงเกี่ยวกับระบบนิเวศชายฝั่ง ขยะ และไมโครพลาสติก โดย ดร.วัชรี รวยรื่น มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี











ประมวลภาพ

ข่าวโดยนายณัฐชัย โต๊ะเปี้ย นักศึกษาช่วยงานส่วนสื่อสารองค์กร