Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ จัดกิจกรรม เวทีพิจารณาข้อเสนอโครงการ “การสร้างความมั่นคงด้านอาชีพ ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง”

อัพเดท : 21/01/2562

1173





ม.วลัยลักษณ์ โดยสถาบันวิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเวทีพิจารณาข้อเสนอโครงการ "การสร้างความมั่นคงด้านอาชีพในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ระยะที่ 2" เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทุนวิจัยของมหาวิทยาลัย และพัฒนาพื้นที่ให้มีความมั่นคงด้านอาชีพ เมือวันที่ 15 มกราคม 2562 ณ ห้องประชุม 1 อาคารวิจัย



ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประธานในพิธีเปิด กล่าวว่า เวทีพิจารณาข้อเสนอโครงการ “การสร้างความมั่นคงด้านอาชีพในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช” ในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) และมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นผู้บริหารจัดการทุน ทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยสถาบันวิจัยและนวัตกรรมได้จัดเวทีพัฒนากรอบโจทย์วิจัย และประกาศรับทุนวิจัย เพื่อพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกรในสามประเด็นอาชีพ คือ การทำนาข้าวพันธุ์พื้นเมือง การทำไร่จาก และการปลูกพืชผัก เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ตลอดจนได้นำนักวิจัยลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบโจทย์วิจัยอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดมีข้อเสนอโครงการจากนักวิจัยส่งมาพิจารณาในลักษณะชุดโครงการทั้งสิ้น 4 ชุดโครงการ ด้วยกัน ดังนั้นในวันนี้จึงเป็นโอกาสดีที่นักวิจัยได้รับความกรุณาจากผู้ทรงคุณวุฒิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เกษตรอำเภอหัวไทร เกษตรอำเภอปากพนัง องค์การบริหารส่วนตำบลขนาบนาก องค์การบริหารส่วนตำบลท่าซอม และตัวแทนเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ



ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.อภินันท์ สุประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า โครงการการสร้างความมั่นคงด้านอาชีพในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ระยะที่ 2 ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) และมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นผู้บริหารจัดการทุน โดยมีระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2561 ถึง วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2563 รวมระยะเวลา 16 เดือน เป้าหมายสำคัญของโครงการ คือการพัฒนาระบบบริหารจัดการทุนวิจัยของมหาวิทยาลัย และการพัฒนาพื้นที่ให้มีความมั่นคงด้านอาชีพ โดยเน้นอาชีพการทำนาข้าวพันธุ์พื้นเมือง การทำไร่จาก และการปลูกพืชผัก มีพื้นที่เป้าหมายคือ อำเภอปากพนัง และอำเภอหัวไทร โดยสถาบันวิจัยและนวัตกรรม ม.วลัยลักษณ์ ได้จัดเวทีพัฒนากรอบโจทย์วิจัย เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2561 โดยได้รับความร่วมมือจาก ภาคีเครือข่ายหลักคือศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมทั้งภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ในพื้นที่ และประกาศรับทุนวิจัยเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561ตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมา นักวิจัยได้ลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูลและพัฒนาข้อเสนอโครงการอย่างต่อเนื่อง

ในวันนี้มีนักวิจัยที่พร้อมสำหรับการนำเสนอโครงการจำนวน 4 ชุดโครงการ ได้แก่ ประเด็นข้าว 1 ชุด คือ ชุดโครงการการพัฒนาข้าวกล้องและผลิตภัณฑ์จากข้าวกล้องคุณภาพสูงสำหรับตลาดพรีเมียม โดย รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล มาแทน สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร เป็นหัวหน้าชุดโครงการวิจัย ประเด็นอาชีพไร่จาก มีข้อเสนอโครงการจำนวน 2 ชุด ได้แก่ การออกแบบเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อผลทางความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจและภูมิปัญญาของชุมชนขนาบนาก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดย อาจารย์ภริตพร แก้วแกมเสือ สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ โครงการยกระดับและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นต้นจาก ลุ่มน้ำปากพนัง เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ สู่ตลาดเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน โดย อาจารย์ ดร.รุ่งรวี จิตภักดี สำนักวิชาการจัดการ ส่วนประเด็นพืชผัก มีจำนวน 1 ชุด คือ โครงการยกระดับระบบการผลิตของเกษตรกรอาชีพปลูกพืชผัก สู่ระบบการผลิตที่แบบปลอดภัยได้มาตรฐาน ตำบลท่าซอม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยอาจารย์ ดร.จินตนีย์ รู้ซื่อ เป็นหัวหน้าชุดโครงการวิจัย

การจัดเวทีพิจารณาข้อเสนอโครงการในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เกษตรอำเภอปากพนัง และอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) พาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราช ธนาคาร SME องค์การบริหารส่วนตำบลขนาบนาก และ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าซอม และที่สำคัญคือตัวแทนเกษตรกรซึ่งจะเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยนี้อีกด้วย







ประมวลภาพ