Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ปาฐกถาพิเศษ “แนวคิดและทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์”

อัพเดท : 28/08/2562

1643

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ปาฐกถาพิเศษ “แนวคิดและทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” เนื่องในโอกาสปฐมนิเทศพนักงานใหม่ ประจำปีงบประมาณ 2562 (2/2562) เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2562 ณ ห้อง 203 อาคารวิทยาศาสตร์การกีฬา

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร กล่าวเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ว่า เป็น“มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ” ที่มีการเรียนการสอนทั้งด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ “มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” ที่จัดตั้งขึ้นใหม่เป็นแห่งที่สองของประเทศ ซึ่งการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จะมีความเป็นอิสระเสรีภาพทางวิชาการ มีความคล่องตัว สามารถพัฒนาระบบบริหารและการจัดการตนเอง โดยมีความมุ่งมั่นสร้างศักยภาพและความพร้อมในการเผชิญการเปลี่ยนแปลง เพื่อก้าวไปสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งศตวรรษที่ 21”

การเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบที่มีการเรียนการสอนครอบคลุมทุกด้าน ทำให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์สามารถผลิตบัณฑิตตรงตามความต้องการของการพัฒนาประเทศในระยะที่ผ่านมา สามารถตอบสนองความต้องการด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศไทย ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ช่วยเติมเต็มในส่วนที่ขาด ตรงกับความต้องการของการพัฒนาประเทศไปสู่ศตวรรษที่ 21 มีผลผลิตเป็นที่ยอมรับของสังคม ทั้งด้านคุณภาพบัณฑิต การวิจัย และการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมที่พร้อมรับใช้สังคม ซึ่งจำเป็นต้องสร้างความรู้ใหม่ เป็นฐานของการทำภารกิจ ต่อยอดเกิดผลสัมฤทธิ์ทางนวัตกรรม และขยายผลไปสู่การอำนวยประโยชน์แก่สังคม ซึ่งการจะดำเนินภารกิจเหล่านี้ได้ต้องอาศัยบุคลากรหลายฝ่ายร่วมกันดำเนินการ อาทิ สายวิชาการ ส่วนปฏิบัติการวิชาชีพและบริหารทั่วไป สายบริหารวิชาการ ฯลฯ

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร กล่าวต่อว่า ในฐานะบุคลากรของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะต้องพัฒนาตนเองให้เป็นพนักงานมืออาชีพ คือ ผู้ที่ดำเนินชีวิตโดยยึดการทำอาชีพใดอาชีพหนึ่งดำรงชีพ ทำได้ดีตามมาตรฐานอาชีพและมีประสบการณ์แห่งความสำเร็จในอาชีพนั้นๆ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ผู้ที่ดำเนินชีวิตโดยการเป็นพนักงานตามมาตรฐานและจริยธรรมของวิชาชีพทำได้ดีและมีประสบการณ์แห่งความสำเร็จ ส่วนการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้บริหารมืออาชีพ จะต้องใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ (Lifelong Learning) เรียนรู้จากพนักงานต้นแบบ (Mentor) หาประสบการณ์เพิ่มเติม ให้ทันสมัยอยู่เสมอ ปฏิบัติวิชาชีพโดยยึดมาตรฐานและจรรยาบรรณ และสร้างประสบการณ์แห่งความสำเร็จในทุกโอกาส

อย่างไรก็ตาม บุคลากรของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะต้องรู้จักปณิธาน ที่ว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีจุดมุ่งหมายหลักในการบุกเบิก แสวงหา บำรุงรักษาและถ่ายทอดความรู้ เพื่อสร้างสรรค์ จรรโลงความก้าวหน้าและความเป็นเลิศทางวิชาการ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคคลให้เป็นผู้มีความเรืองปัญญาและคุณธรรม มุ่งสร้างบัณฑิตให้เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ “เป็นองค์กรธรรมรัฐ เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นหลักในถิ่น เป็นเลิศสู่สากล” และค่านิยมร่วมของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ “WALAILAK” W – Wisdom : มุ่งสู่ปัญญา A – Advancement : ล้ำหน้าสร้างสิ่งใหม่ L – Loyalty : มอบใจให้องค์กร A – Altruism : เอื้ออาทรต่อผู้อื่น I – Integrity : ยืนบนรากฐานความซื่อสัตย์ L – Lean : กะทัดรัด เด่นชัดในคุณค่า A – Accountability : ตรวจตราความรับผิดชอบ K – Knowledge Sharing : ใฝ่ รู้รอบมอบแบ่งปันด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ได้กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า “ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นองค์กรทางวิชาการชั้นสูง ต้องอาศัยความเป็นเลิศทางวิชาการในการทำภารกิจ ผู้ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยในการสร้างคน สร้างความรู้ และสร้างนวัตกรรมทที่ตรงกับความต้องการและใช้ประโยชน์ได้จริง คือ นักวิชาการและนักวิชาชีพภายใต้การนำของผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำ ในบริบทของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คือพนักงานทุกคนจะต้องเป็นคนดีและคนเก่ง เข้าใจ เข้าถึงและพร้อมที่จะร่วมกันขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยบนเส้นทาง “วลัยวิถี” สู่อนาคตที่ท้าทายตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี (พ.ศ.2561- 2580) ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ด้วยกระบวนการพัฒนาบุคลากรให้ทุกคน เป็นมืออาชีพในกรอบของธรรมัตตาภบิาล ปณิธาน วิสัยทัศน์และค่านิยมร่วมของมหาวิทยาลัย”



สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง