Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ศูนย์ความเป็นเลิศไข้เลือดออก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ เครือข่ายสุขภาพ “พระแสงโมเดล” จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดำเนินการประเมินผลและฟื้นฟูสมรรถนะการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก

อัพเดท : 30/08/2562

1053



ศูนย์ความเป็นเลิศไข้เลือดออก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ เครือข่ายสุขภาพ “พระแสงโมเดล” จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดำเนินการประเมินผลและฟื้นฟูสมรรถนะการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก

“พระแสงโมเดล: เครือข่ายเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืน” เป็นการดำเนินการในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 74 หมู่บ้านและ 6 ชุมชน ของอำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งดำเนินการวางระบบฯ มาครบ 1 ปี จึงได้จัดให้มีการประชุมเพื่อประเมินผลการดำเนินการและการประชุมเชิงปฏิบัติการฟื้นฟูสมรรถนะด้านความรู้เกี่ยวกับไข้เลือดออกและดัชนีลูกน้ำยุงลาย ณ ห้องประชุม วิภาวดี อำเภอพระแสง วันที่ 19 และ 20 สิงหาคม 2562

ผลการประเมินการดำเนินการโดยแกนนำสุขภาพจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระแสง สาธารณสุขอำเภอพระแสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานไข้เลือดออกของโรงพยาบาล พบว่า อัตราการป่วยไข้เลือดออกของอำเภอมีแนวโน้มที่ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา ด้วย 6 กิจกรรมที่สำคัญ คือ

1) กิจกรรมสร้างความตื่นตัวเป็นการดำเนินการที่มีความครอบคลุมทั้งอำเภอ
2) กิจกรรมติดปีกครู ก ด้วยสมรรถนะด้านความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออกและระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลาย
3) กิจกรรมสร้างและพัฒนาทีมเฝ้าระวัง 74+6 เป็นการดำเนินการติดตั้งระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายและพัฒนาสมรรถนะด้านความรู้เรื่องโรคและดัชนีลูกน้ำยุงลาย ดำเนินการไป 6 รุ่น รวม 1,200 คน
4) กิจกรรมศูนย์เฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลาย กำหนดวันที่ของเดือนในการดำเนินการสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ยุงทุกวันที่ 25 ของเดือนใส่สมุดสีม่วง ส่งข้อมูลไปยังหัวหน้าโซนใส่สมุดสีฟ้าในวันที่ 28 ของเดือน และ หัวหน้าโซนดำเนินการรวบรวมข้อมูลส่งประธานหมู่บ้านใส่สมุดสีเหลืองในวันที่ 30 ของเดือน และส่งข้อมูลเข้าโปรแกรมคอมพิวเตอร์
5) การทำนายพื้นที่เสี่ยงเพื่อพยากรณ์หมู่บ้านเสี่ยง โดยกำหนดลงในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมกับโปรแกรมเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลาย SURAT Dengue (http://surat.denguelim.com/)
6) SRRT พระแสงเข้มแข็ง ใช้การควบคุมการระบาดเชิงรุก

ทั้งนี้ได้มีการวางแผนในการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2563 อีก 2 กิจกรรม คือ

1) Micro project in village เป็นโครงการย่อยประจำหมู่บ้าน เพื่อกำหนดในการนำเสนอ ทั้งนี้ดำเนินการผ่าน รพ.สต. และ อสม. ประธานหมู่บ้าน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของท้องที่และท้องถิ่น
2) Praseang Model to ABCR เป็นทีมดำเนินการพัฒนางานประจำในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกสู่งานวิจัย โดยมีการดำเนินการร่วมกันของทีมแกนนำ

ส่วนการฟื้นฟู สมรรถนะด้านความรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกและดัชนีลูกน้ำยุงลายของอาสาสมัครสาธารณสุขทั้งอำเภอพระแสง เพื่อสนับสนุนให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง พบว่า อสม. ผู้เข้าร่วมจำนวน 1,200 คน แบ่งเป็น 2 รุ่นๆ ละ 600 คน โดยมีการสะท้อนคิดในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกให้ถึงระดับครัวเรือน ตลอดถึงมุ่งเน้นการป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในชุมชนและการดูแลรักษาเมื่อป่วยเพื่อไม่ให้มีผู้ป่วยตายด้วยโรคไข้เลือดออก











ประมวลภาพ