Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก กับ การบูรณาการโครงการวิจัยในรายวิชา สู่ การใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่: อีกหนึ่งมิติของการเป็นหลักในถิ่น ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

อัพเดท : 15/11/2562

2529

การประชุมคืนข้อมูลแก่พื้นที่ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 เวลา 13.00-16.00 น. ณ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอกาญจนดิษฐ์ มีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม ประกอบด้วย สาธารณสุขอำเภอ นักวิชาการสาธารณสุข ผู้อำนวยการโรงเรียน คุณครูอนามัย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน นักศึกษา และอาจารย์จากสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก จำนวน 60 คน รวมกันระดมสมองในการนำผลการวิจัยจากรายวิชาเรียนไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมกับบริบทพื้นที่



จากผลการบูรณาการ 3 ฝ่ายตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ "การเป็นหลักในถิ่น" ระหว่าง 1) การจัดการเรียนรายวิชาโครงการวิจัยสาธารณสุขชุมชน สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ 2) ความต้องการของพื้นที่ในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกของอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฏร์ธานี และ 3) ศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก (Excellent center for dengue research and academic service: EC for DRAS) ในการสนับสนุนการดำเนินการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่



ตามที่อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นอำเภอที่มีปัญหาโรคไข้เลือดออกมาอย่างต่อเนื่อง มีอัตราการป่วยโรคไข้เลือดออก 5 ปีย้อนหลังตั้งแต่ พ.ศ. 2557, 2558, 2559, 2560 และ 2561 เท่ากับ 107.97, 143.25, 65.20, 175.32 และ 317.29 ประชากรต่อแสนคน ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าอัตราการป่วยที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 50 รายต่อแสนประชากร และมีผู้ป่วยเด็กเสียชีวิตเมื่อปี 2561 จำนวน 1 ราย

สืบเนื่องการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกของอำเภอกาญจนดิษฐ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 โดยการนำของนายอำเภอ สาธารณสุขอำเภอกาญจนดิษฐ์ และภาคีเครือข่าย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก ได้มีการติดตั้งระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายและการทำนายหมู่บ้านพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดโรคไข้เลือดออก มีกิจกรรมหลักในการดำเนินการในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจำนวน 7 กิจกรรมตามกรอบ “กาญจนดิษฐ์โมเดล” ส่งผลต่อการลดลงของปัญหาโรคไข้เลือดออก โดยพบว่า ในปี พ.ศ. 2562 (มกราคม-พฤศจิกายน 2562) มีอัตราป่วย 61 รายต่อแสนประชากร แต่ยังคงมีอัตราการป่วยที่สูงกว่าค่ามาตรฐานแม้ว่าไม่มีผู้ป่วยตายจากไข้เลือดออก

ดังนั้นจึงมีการบูรณาการของ 3 ภาคส่วนเพื่อทวนสอบระบบฯ ในส่วนของอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน 2,340 คนของ 17 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และ 1 ศูนย์สุขภาพชุมชน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 4-6 ของ 50 โรงเรียนในอำเภอกาญจนดิษฐ์ ประโยชน์ที่ได้รับคือข้อมูลสำคัญในการนำไปเป็นฐานคิดปรับปรุงการดำเนินการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก ตลอดถึงการกระตุ้นให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน โดยผลการวิจัย จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่

เรื่องที่ 1 เปรียบเทียบความเข้าใจเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกและดัชนีลูกน้ำยุงลายของ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในหมู่บ้านพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้เลือดออกสูงและต่ำ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฏร์ธานี (Comparison of the Understanding Dengue and Aedes aegypti Larval Indices of Village Health Volunteers at High and Low Dengue Risk Villages in Kanchanadit District, Surat Thani Province) โดยนักศึกษา นายวิรุต กระจาย และนางสาวภาวิณี ณะเพ็ชร





เรื่องที่ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันโรคไข้เลือดออก
ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาในอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (Association between Knowledge, Attitude and Practice Regarding Dengue Prevention of Primary School Students
in Kanchanadit District, Surat Thani Province) โดยนักศึกษา นางสาว บุศราวดี แสงสุวรรณ และ นางสาว ธมลวรรณ แสงมณี





หนึ่งมิติ ของการมีส่วนร่วมที่มากกว่าความร่วมมือ คำขอบคุณของพื้นที่ต่อการคิดเชิงวิชาการ ตลอดถึงความมุ่งมั่นของผู้เกี่ยวข้องในการนำข้อมูลที่ได้จากการวิจัยของนักศึกษาไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมกับบริบทพื้นที่ สะท้อนให้เห็นถึงผลสำเร็จการบูรณาการการเรียน การสร้างประสบการณ์ของนักศึกษาที่มากกว่าเกรด การใช้พื้นที่ชุมชนเป็นห้องเรียน และมิติของศูนย์ความเป็นเลิศฯ ในเสริมสร้างการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ ทั้งนี้ขอขอบพระคุณสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในการสนับสนุนให้มีปรากฏการณ์ดังกล่าว...อีกหนึ่งมิติของการเป็นหลักในถิ่น...



ประมวลภาพ