Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับสำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช จัดกิจกรรมอบรมมาตรฐานฟาร์มจีเอพี (GAP) เพื่อยกระดับคุณภาพเกรดพรีเมี่ยม ภายใต้โครงการ“กิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าประมงโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม”

อัพเดท : 18/11/2562

1207



เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 ณ ห้องดอกบัว โรงแรมทวินโลตัส อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช นายพรศักดิ์ ศักดิ์ธานี ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานเปิดกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาตรฐานฟาร์มจีเอพี (GAP) แก่เกษตรผู้เลี้ยงปลานิลพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ในกิจกรรมที่ 4 ด้านมาตรฐานฟาร์มจีเอพี (GAP) เพื่อยกระดับคุณภาพเกรดพรีเมี่ยม ภายใต้โครงการ“กิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าประมงโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม”โดยมีนายประพันธ์ พัฒน์ทอง หัวหน้าฝ่ายประชาสังคมและกำกับดูแลฝ่ายบริหารโครงการและกิจกรรมพิเศษ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้การต้อนรับ



กิจกรรมดังกล่าว ดำเนินการร่วมกับสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้วย Aqua Grow โดย นายเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ หัวหน้าโครงการส่งเสริมการนำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและเศรษฐกิจชุมชน สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับ ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร จังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และการปฏิบัติทางประมงที่ดี สำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ (GAP) โดย นายธีรพงศ์ ไกรนรา หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการประมง สำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช

เพื่อสร้างเครือข่ายของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลลุ่มน้ำปากพนัง จากอำเภอปากพนัง, อำเภอเชียรใหญ่,อำเภอหัวไทร,และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 37 ราย เข้าร่วมกิจกรรม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและตอบปัญหาประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะ การแก้ไขปัญหาราคาปลานิลตกต่ำ ด้วยการทำตลาดออฟไลน์และตลาดออนไลน์ รวมถึงการหาแนวทางลดต้นทุนด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม " IoT Monitoring System for Aquaculture", การผลิตโดยระบบมาตรฐานจีเอพี,ระบบมาตรฐานอินทรีย์แบบPGS การจัดการฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้วย Aqua Grow

กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ “กิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าประมงโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม”ที่ร่วมกันพัฒนาโครงการที่เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างสำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นที่ปรึกษาในการจัดการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน จำนวน 6 กิจกรรมย่อย โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดนครศรีธรรมราช และเป็นการต่อยอดมาจาก “หมู่บ้านฟาร์มปลานิลคุณภาพสู่มาตรฐาน” หมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 - 2560 ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.พ้วน เพ่งเซ้ง จากสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร เป็นหัวหน้าโครงการฯ และนางเพชรลดา ดำรักษ์ เป็นประธานหมู่บ้านฯ ต่อมาในปี 2560 พัฒนาเป็นหมู่บ้านต้นแบบในการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

การส่งเสริมให้เกษตรกรเครือข่ายผู้เลี้ยงปลานิลลุ่มน้ำปากพนังรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ จึงนับเป็นการดำเนินงานที่สร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรได้เป็นอย่างดี ทั้งการลดต้นทุน การจัดการผลผลิตให้มีประสิทธิภาพ และการช่วยยกระดับฟาร์มเพาะเลี้ยงให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน GAP เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเกษตรกรมีการสร้างเครือข่ายผู้เลี้ยงปลานิลภายในจังหวัดเดียวกันรวมไปถึงเครือข่ายปลานิลระดับประเทศ เป็นการถ่ายทอดความสำเร็จการผลิตปลานิลจากแปลงพี่สู่แปลงน้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในระบบแปลงใหญ่ให้มีความก้าวหน้า แสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่ยั่งยืนของประมงไทย ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน

ประมวลภาพกิจกรรม
รายละเอียดเพิ่มเติม : http://cas.wu.ac.th/