Location

0 7567 3000

ข่าวทั่วไป

สารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2562) อ่านได้แล้วในแบบออนไลน์

อัพเดท : 06/01/2563

1553

สารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เตรียมความพร้อม มุ่งพัฒนาและยกระดับวารสารเข้าสู่ฐานข้อมูลอาเซียน (ACI) เพื่อเป็นพื้นที่ทางวิชาการในการแลกเปลี่ยนทางศิลปะและวัฒนธรรมในระดับนานาชาติ

สำหรับสารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2562) ได้ตีพิมพ์บทความทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม เป็นบทความวิชาการและบทความวิจัย ดังนี้

บทความเรื่องแรก Can “New Institutionalism” in Thai Constitution (2017) create a peaceful society? โดย Payan Eumsin เป็นบทความที่หยิบรัฐธรรมนูญปี 2017 มาวิเคราะห์การปกครองในบริบทของสังคมไทย เป็นบทความที่ชวนคิดและวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญได้อย่างน่าสนใจ

บทความที่สองเรื่อง การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานเพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการอ่านคิดวิเคราะห์ โดยเทิดพงศ์ ชัยรัตน์ เป็นบทความที่ศึกษาวิจัยเพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน(BBL) เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการอ่านคิดวิเคราะห์ของนักเรียน

บทความที่สามเรื่อง การสำรวจลวดลายเครื่องปั้นดินเผากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านมะยิง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดย กษิญา เก้าเอี้ยน ดำเนินการสำรวจหาลวดลายที่สามารถนำมาใช้บนเครื่องปั้นดินเผาได้ด้วยเครื่องมือแบบสังเกตกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านมะยิงถึงลวดลายดั้งเดิมที่เคยทำในอดีต
แล้วจึงนำมาถอดลาย และวิเคราะห์ลวดลายเครื่องปั้นดินเผากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านมะยิง

บทความที่สี่เรื่อง การอนุรักษ์ สืบสานและพัฒนางานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านเครื่องจักสานโดยแนวคิดทางการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดย ภริตพร แก้วแกมเสือ เป็นบทความที่นำเสนอแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมเครื่องจักสานเพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน โดยการสืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านในด้านความหมาย ลักษณะเฉพาะและคุณค่า แนวคิดทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม

บทความที่ห้าเรื่อง ความสัมพันธ์ทางการเมืองและศาสนาระหว่างศรีลังกากับไทยในพุทธศตวรรษที่ 18
โดย พระมหาพจน์ สุวโจ และชยาภรณ์ สุขประเสริฐ เป็นบทความที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างศรีลังกากับประเทศไทยโดยเริ่มต้นจากพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งสมัยนั้นอาณาจักรตามพรลิงค์ของไทยกำลังรุ่งเรืองเกรียงไกรเป็นที่รู้จักของนานาอารยวิเทศ ในบทความเล่าถึงความสัมพันธ์ทางการเมืองได้อย่างน่าสนใจ

บทความที่หกเรื่อง บทชมโฉมพระลอสู่การร่วมสังวาสของพระลอและพระเพื่อนพระแพง โดย รัชฎาพร ตัณฑสิทธิ์ เป็นการวิเคราะห์บทชมโฉมในวรรณคดีโศกนาฏกรรมความรักเรื่องลิลิตพระลอเป็นเหตุจูงใจเบื้องต้นที่มีความเผ็ดร้อนคุกรุ่นไปด้วยเรื่องราวแห่งกามารมณ์ อันเป็นจุดเริ่มต้นบีบเค้นพฤติกรรมของตัวละครให้แสดงออกด้วยความเผ็ดร้อน รุนแรงเหนือการยับยั้งชั่งใจจนมุ่งสู่ความพังพินาศ

บทความที่เจ็ดเรื่อง ห้วงเวลาประวัติศาสตร์โลก (โลกตะวันตก) – ไทย: ด้านรัฐศาสตร์สัมพันธ์กับศาสนา
กรณีศึกษาของปัญญาชนคนสุราษฎร์ธานี โดย กอบกิตติ์ สุวรรณโชติ เป็นบทความวิจัยที่นำวรรณกรรมห้วงเวลาประวัติศาสตร์โลกมาศึกษาความสัมพันธ์ด้านรัฐศาสตร์กับศาสนาโดยผ่านเวลาประวัติศาสตร์โลก (ตะวันตก)- ไทย และยุคสมัยของไทย

บทความสุดท้ายของฉบับนี้ เรื่อง ทองบางสะพานกับการดำรงอยู่ โดย ปัทมาสน์ สุนทรโอวาท ศึกษาปัจจัยการดำรงอยู่ของทองบางสะพาน อำเภอบางสะพาน ได้อย่างน่าสนใจ

ปิดท้ายเล่มด้วยบทปริทัศน์ ของ สืบพงศ์ ธรรมชาติ ได้แนะนำหนังสือเรื่อง “ฝันของเด็กชาวนา” เขียนโดย วิทยากร เชียงกูล เป็นหนังสือเก่าหายากที่สะท้อนมุมมองแนวคิดต่าง ๆ ที่สะท้อนสังคมได้เป็นอย่างดี

ผู้สนใจอ่านบทความออนไลน์ได้แล้ววันนี้ที่ https://www.tci-thaijo.org/index.php/cjwu/issue/view/16069

การส่งต้นฉบับ
ผู้เขียนสามารถส่งบทความเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ในสารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ (ISSN 2228-804X) ผู้เขียนสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและคำแนะนำสำหรับการใช้งานเบื้องต้นของระบบ ThaiJO ได้ที่เว็บไซต์ https://www.tci-thaijo.org/index.php โดยเลือกสมัครสมาชิก สารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ จากนั้นเข้าสู่กระบวนการส่งบทความ (Submission) ผ่านทางระบบ Thaijo

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
222 ตำบลไทยบุรี อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช 80160
Walailak Abode of Culture Journal WALAILAK UNIVERSITY
222 THAIBURI, THASALA DISTRICT NAKHONSITHAMMARAT 80161
E-mail: culturaljournal.wu@gmail.com
Website: https://www.tci-thaijo.org/index.php/cjwu

รายละเอียดเพิ่มเติม : http://www.tci-thaijo.org/index.php/cjwu/issue/view/16069