Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

คำชี้แจงข้อร้องเรียนเกี่ยวกับกระบวนการประกวดราคา (TOR) ระบบโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายคอมพิวเตอร์โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ม.วลัยลักษณ์พร้อมติดตั้ง

อัพเดท : 22/05/2563

2434

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้จัดทำโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบสารสนเทศเพื่อรองรับการเปิดให้บริการศูนย์การแพทย์ และได้ทำโครงการเพื่อเตรียมระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (WUH.Net) เสนอไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(DE) และได้รับอนุมัติโครงการเมื่อเดือนมีนาคม 2561 หลังจากนั้นสำนักงบประมาณได้อนุมัติงบประมาณ 3 ปีติดต่อกัน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2564 โดยในปีงบประมาณ 2563 ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างระบบโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายคอมพิวเตอร์โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์พร้อมติดตั้ง  วงเงินงบประมาณ 114 ล้านบาท และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกวดอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding ดังต่อไปนี้

- วันประกาศเผยแพร่ในระบบ e-GP วันที่ 24 เมษายน 2563
- กำหนดวันยื่นเอกสารและราคาในระบบ e-GP วันที่ 28 พฤษภาคม 2563
- กำหนดวันทดสอบอุปกรณ์ทางเทคนิค (Proof of Concept : POC) ว่าอุปกรณ์สามารถทำงานได้จริงตามข้อกำหนดใน TOR  วันที่ 1-2 มิถุนายน 2563
- กำหนดวันพิจารณาคัดเลือก วันที่ 4 มิถุนายน 2563

สำหรับการร้องเรียนเกี่ยวกับการ Lock spec โดยเครือข่ายพิทักษ์ธรรม นำโดยนายรัฐฐาปกรณ์ ไกรงาม นั้น ทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงว่า ข้อร้องเรียนกล่าวไม่เป็นความจริง โดยขอชี้แจงรายละเอียดดังนี้

1.คณะกรรมการจัดทำ TOR เพื่อติดตั้งระบบเครือข่ายโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ แบบ Software Defined Network (SDN) หรือ SD-Access ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเครือข่ายสมัยใหม่ ที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการระบบเครือข่ายและการขยายระบบเครือข่ายเพิ่มเติมในภายหลัง ทั้งนี้ความสามารถในเรื่อง Software Defined Network (SDN) หรือ SD-Access เป็นข้อจำกัดทางเทคนิคที่ในประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์เพียง 2 ผลิตภัณฑ์ คือ Cisco และ Huawei ที่มีคุณสมบัติดังกล่าว และมีเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์การมุ่งไปสู่ Smart Hospital ตามที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ต้องการและอยู่ในงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร

2.มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์โดยคณะกรรมการ TOR ได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของทางราชการอย่างเคร่งครัด เพื่อความโปร่งใส โดยดำเนินการให้มีกระบวนการวิจารณ์จากบริษัท 2 ครั้ง  กระบวนการวิจารณ์ครั้งที่ 1 มีบริษัทยื่นการวิจารณ์ จำนวน 11 บริษัท และครั้งที่ 2 มีจำนวน 8 บริษัท โดยบริษัทดังกล่าวเป็นตัวแทนจำหน่ายของ Cisco  ได้ยื่นการวิจารณ์  ทางคณะกรรมการ TOR มีข้อสังเกตว่าทั้ง 8 บริษัทดังกล่าวมีข้อความวิจารณ์เหมือนกันทุกตัวอักษร (รวมทั้งข้อความที่พิมพ์ผิด) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มหาวิทยาลัยลดคุณสมบัติทางด้านเทคนิค (Spec) เพื่อให้บริษัท Cisco เสนอผลิตภัณฑ์รุ่นที่ต่ำกว่าข้อกำหนดใน TOR เช่น อุปกรณ์กระจายสัญญาณเครือข่าย (Core Switch) อุปกรณ์เครือข่ายประจำอาคาร (Distribute Switch) อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Firewall) เป็นต้น

คณะกรรมการ TOR ได้พิจารณาข้อวิจารณ์อย่างละเอียดรอบคอบและเห็นว่าหากมหาวิทยาลัยปรับคุณสมบัติทางด้านเทคนิคลงตามข้อวิจารณ์ของ 8 บริษัทดังกล่าว  จะทำให้ประสิทธิภาพการใช้งานลดลง ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียหายต่อทางราชการและจะทำให้ราคากลางที่กำหนดไว้สูงเกินกว่าความเป็นจริง นอกจากนี้คณะกรรมการ TOR ได้พิจารณาคุณสมบัติทางด้านเทคนิคจาก Data Sheet ของผลิตภัณฑ์ Cisco แล้วเห็นว่า  ทั้ง 8 บริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายของ Cisco มีผลิตภัณฑ์ที่สามารถยื่นเสนอในการประกวดราคาครั้งนี้ได้ตามข้อกำหนดใน TOR จึงไม่ถือว่าเป็นการ Lock Spec ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่ง คณะกรรมการ TOR จึงเสนอให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์พิจารณายืนยัน TOR ที่กำหนดไว้ และคณะกรรมการ TOR ได้ตอบทุกข้อการวิจารณ์ไปยังบริษัทที่ยื่นการวิจารณ์ จนนำมาสู่การประกาศประกวดราคา e-bidding ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุกกระบวนมีความโปร่งใส

 

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์