Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา พัฒนาชุดความรู้สื่อนิทานภาษาอังกฤษสำหรับเด็กปฐมวัย “น้องแตงไทย รักษ์ธรรมชาติ”

อัพเดท : 01/09/2563

1648

  

     มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดยอาจารย์ ดร.วรรัตน์ หวานจิตต์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4  สำนักวิชาศิลปศาสตร์ พร้อมด้วยคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ ร่วมจัดกิจกรรมการเล่านิทานภาษาอังกฤษเพื่อเสริมประสบการณ์ด้านภาษาของเด็กปฐมวัย  ระหว่างวันที่ 4  - 18 สิงหาคม พ.ศ. 2563  ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ต.ไทยบุรี อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช “โครงการพัฒนาชุดความรู้สื่อนิทานภาษาอังกฤษเพื่อเสริมประสบการณ์ด้านภาษาของเด็กปฐมวัย” ภายใต้โครงการวิชาการรับใช้สังคม (Social engagement) ประจำปี 2563 มุ่งเน้นพัฒนาชุดความรู้สื่อประกอบแผนจัดประสบการณ์โดยใช้การเล่านิทานภาษาอังกฤษเสริมกิจกรรมให้แก่เด็กปฐมวัยให้มีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ ระดับสูงขึ้น รวมทั้งพัฒนาครูผู้ดูแลสามารถถ่ายทอดและสื่อสารภาษาอังกฤษกับเด็กปฐมวัยอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 โดยการดำเนินโครงการที่ผ่านมาได้พัฒนาชุดสื่อนิทานเสริมภาษาสำหรับเด็ก ในรูปแบบนิทานรูปเล่ม ด้วยกระบวนการออกแบบที่เน้นการมีส่วนร่วมกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา จนเกิดชุดความรู้สื่อนิทานภาษาอังกฤษที่สอดคล้องกับวัยและสามารถนำไปประกอบแผนจัดประสบการณ์ของเด็กที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ 
 

     ในการนี้ อาจารย์ ดร.วรรัตน์ หวานจิตต์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ นักศึกษาและคณะทำงาน ร่วมกับคณะครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลไทยบุรี ได้นำ “ชุดความรู้สื่อนิทานภาษาอังกฤษเพื่อเสริมประสบการณ์ด้านภาษาของเด็กปฐมวัย: น้องแตงไทย รักษ์ธรรมชาติ” สู่กระบวนการถ่ายทอดเรื่องราวผ่าน “กิจกรรมการเล่านิทานภาษาอังกฤษเพื่อเสริมประสบการณ์ด้านภาษาของเด็กปฐมวัย” พร้อมทั้งสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนเสริมพัฒนาการให้แก่เด็กเล็กปฐมวัย อายุ 2-4 ขวบ จำนวนทั้งสิ้น 50 คน ได้ดำเนินการทั้งสิ้น จำนวน 5 ครั้ง ด้วยนิทานจำนวน 5 เรื่อง ได้แก่ 

     1. ความสุขของนกกระจอก (The Happiness of a Sparrow)  
     2. สรรหาผีเสื้อ (Finding Butterflies)
     3. ต้นไม้คืนป่า (Forest Restored)
     4. แมกม่าไปไหน? (What happened to Magma?)
     5. คุณค่าของดอกไม้ (Flower’s merit)
 

   การดำเนินการเล่านิทานแต่ละครั้งออกแบบทั้งกระบวนการส่วนหนึ่งของการจัดประสบการณ์ครอบคลุมกิจกรรมของการเรียนรู้ของเด็ก ได้แก่ กิจกรรมเสริมประสบการณ์ (นิทาน) กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ (ร้องเพลง เต้น ประกอบท่าทาง) กิจกรรมเสรี (การเล่น) กิจกรรมสร้างสรรค์ (การปั้นดินน้ำมัน ศิลปะ) กิจกรรมเกมการศึกษา (เกมจับคู่) โดยมีรูปแบบการจัดกิจกรรม ดังนี้

1. “ร้องเล่น เต้นรำ จำพี่ ๆ” กิจกรรมเตรียมความพร้อมก่อนเล่านิทาน ด้วยการเคลื่อนไหวและจังหวะ ร้องเพลง เต้น ประกอบท่าทาง

2. “เล่านิทาน สานฝันจินตนาการ เสริมประสบการณ์เรียนรู้” ด้วยกิจกรรมการเล่านิทานเสริมประสบการณ์ ชวนคุย ลุยสานสัมพันธ์ เล่าเรื่อง ชวนเพลินประสบการณ์ เน้นให้เด็กมีส่วนร่วมในการเล่านิทาน โดยใช้สื่อประกอบ ภาพประกอบ สื่อประกอบนิทานแบบละครหุ่น (Puppet theatre) และสรุป ทบทวน ฝึกคำศัพท์ จับคู่

3. “เน้นย้ำ Play และ Learn” กิจกรรมการประเมิน ใบงานจับโยงคู่เหมือน จับคู่ความสัมพันธ์ ปั้นดินน้ำมัน ระบายสี ฯลฯ และประชุมแลกเปลี่ยนเทคนิคการใช้สื่อนิทานร่วมกับคณะครูเพื่อเกิดการปรับปรุงการบริการวิชาการเพื่อให้ตอบสนองความต้องการที่สำคัญและความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

     จากการดำเนินการดังกล่าว ได้รับผลตอบรับและผลของการดำเนินงานผ่านไปได้ด้วยดี เด็กปฐมวัยมีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษในระดับสูงขึ้น สามารถฟังได้ รู้คำศัพท์เพิ่ม ทั้งยังช่วยเสริมสร้างกระบวนการคิดทำ เกิดสมาธิจดจ่อกับเรื่องที่ฟัง และสร้างจินตนาการ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมในด้านการอ่านหนังสือ ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านไปพร้อมกัน ตลอดจนครูผู้ดูแลสามารถถ่ายทอดและสื่อสารภาษาอังกฤษกับเด็กปฐมวัยอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีการเปลี่ยนแปลงทางที่ดีขึ้น และมีการต่อยอดการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทางคณะทำงาน ร่วนกับคณะครูจึงได้มีแนวทางในการดำเนินงานต่อเนื่องในปีถัดไป คือ การพัฒนาทักษะของครูผู้สอนสามารถผลิตสื่อภาษาอังกฤษได้ ตลอดจนการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างองค์รวม เชื่อมโยงมิติสุขภาพ การส่งเสริมการเรียนรู้อย่างรอบด้าน

รายละเอียดเพิ่มเติม : http://cas.wu.ac.th/