Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตระบบก๊าซชีวภาพระดับครัวเรือน (Biogas) ให้แก่เกษตรกรชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา

อัพเดท : 16/09/2563

1089

   

                 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2563 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรัติศัย รักมาก รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยรัตน์ ศิริพัธนะ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ ได้จัด “กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตระบบก๊าซชีวภาพระดับครัวเรือน (Biogas)” ณ ห้องประชุม 1 อาคารวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา 

              “โครงการพัฒนาต้นแบบการผลิตก๊าซชีวภาพในระดับครัวเรือนด้วยการหมักร่วมระหว่างมูลสุกรและเศษเหลือในท้องถิ่น” ภายใต้การดำเนินโครงการวิชาการรับใช้สังคม (Social engagement) ประจำปี 2563 มุ่งเป้าหมายศึกษาความเป็นไปได้ในการนำมูลสุกรมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพร่วมกับเศษเหลือในชุมชน ซึ่งหากมีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ หรือช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมในฟาร์มสุกรให้ดีขึ้นอีกด้วย ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2563

                 การดำเนินโครงการที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่ดำเนินการสำรวจมูลสุกรและของเสียในฟาร์มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ประเมินความเป็นไปได้ในการผลิตก๊าซชีวภาพจากของเสียเหล่านั้น ประเมินความพร้อมของเกษตรกรต้นแบบ ออกแบบสร้างและทดสอบระบบการผลิตก๊าซชีวภาพในระดับครัวเรือนด้วยการหมักร่วมระหว่างมูลสุกรและเศษเหลือในท้องถิ่น (Biogas) ร่วมกับเกษตรกรต้นแบบ ผลลัพธ์ที่สำคัญภายหลังจากการดำเนินการ คือ เกิดการกำจัดมูลสุกรและของเสียได้อย่างถูกวิธี เกิดระบบการผลิตก๊าซชีวภาพในระดับครัวเรือนด้วยการหมักร่วมระหว่างมูลสุกรและเศษเหลือในท้องถิ่น (Biogas) นำไปสู่การใช้ประโยชน์ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมในฟาร์มสุกรให้ดีขึ้น

               ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์  ดร.นิรัติศัย รักมาก ในฐานะหัวหน้าโครงการ ฯ และคณะทำงาน จึงได้จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตระบบก๊าซชีวภาพระดับครัวเรือน (Biogas) ขึ้น ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและประชาชนที่สนใจ รวมทั้งสิ้น 20 คน โดยได้บรรยายให้ความรู้ และเยี่ยมชมศึกษาร่วมแลกเปลี่ยนฐานการเรียนรู้บ้านต้นแบบการผลิตก๊าซชีวภาพในระดับครัวเรือน (Biogas) “บ้านครัวเรือนต้นแบบนายทวีสิทธิ์  ศรีเสน” ณ ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา จากการจัดกิจกรรมดังกล่าว เกษตรกรมีความสนใจและประสานแสดงเจตจำนงเพื่อขอรับบริการพัฒนาระบบ Biogas จำนวน 5 ราย ทั้งนี้ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีการเปลี่ยนแปลงทางที่ดีขึ้น และมีการต่อยอดการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทางคณะทำงานได้มีแนวทางในการดำเนินงานต่อเนื่องในปีถัดไป คือ การขยายต้นแบบและพัฒนาวิทยากรชุมชนเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพในระดับครัวเรือนด้วยการหมักร่วมระหว่างมูลสุกรและเศษเหลือในท้องถิ่น (Biogas)
 

รายละเอียดเพิ่มเติม : http://cas.wu.ac.th/