Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัย เป็นประธาน “ปฐมนิเทศบุคลากรใหม่” ประจำปีงบประมาณ 2563 (2/2563)

อัพเดท : 22/09/2563

1230

           มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดกิจกรรมปฐมนิเทศบุคลากรใหม่ ประจำปีงบประมาณ 2563 (2/2563) เมื่อวันจันทร์ที่ 21 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ณ อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรใหม่ ได้รับทราบนโยบาย การบริหาร การพัฒนามหาวิทยาลัย ระเบียบและแนวทางการปฏิบัติตน รวมทั้งเรียนรู้วัฒนธรรมองค์กร โดยมีบุคลากรใหม่ทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุน เข้าร่วมจำนวน 72  คน


 

          โอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัย ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “แนวคิดและทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี กล่าวต้อนรับและบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “การบริหารการเปลี่ยนแปลงด้วย OKRs สู่ World Ranking University” ศาสตราจารย์ ดร. ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนา บรรยายพิเศษในหัวข้อ “การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัย” “กิจกรรมสายใยผูกพันรักมั่นองค์กร (Walailak For all)” โดยรองศาสตราจารย์ ดร. สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร และกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบสนับสนุนการทำงานของมหาวิทยาลัย โดย นางสมพร บุญเกียรติเดชากุล รักษาการแทนหัวหน้าส่วนทรัพยากรมนุษย์และองค์กร

 


 

          ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาพิเศษในครั้งนี้ว่า  เป็นหน้าที่ของบุคลากรใหม่ทุกท่านที่เข้ามาทำงานในองค์กรนี้ ที่จะต้องนำเอาปณิธานของอธิการบดี ของมหาวิทยาลัยไปสู่ความสำเร็จ ในการร่วมกันปฏิบัติในฐานะที่เป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย เชื่อมั่นว่าทุกท่านมีความคาดหวัง ความมุ่งหวังส่วนตัวที่อยากประสบความสำเร็จ ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ดังนั้น จึงต้องเริ่มด้วยความเจริญขององค์กรที่ท่านเลือกเข้ามาทำงาน บุคลากรใหม่ทั้ง 72 ท่านวันนี้ เป็นสายสนับสนุน 28 ท่านและสายวิชาการ 44 ท่าน อยากเรียนทุกท่านว่า  มหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นคนเลือกท่าน เพราะเบื้องต้นท่านคือคนเลือกมหาวิทยาลัยก่อน มหาวิทยาลัยจึงได้มีกระบวนการในการตอบสนอง คัดสรร มหาวิทยาลัยไม่ปฏิเสธผู้ที่มีความหวังดีต่อมหาวิทยาลัย  แต่เพราะไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ทั้งหมด จึงต้องกระทำในลักษณะประกันว่า  ใครก็ตามที่เชิญเข้ามาร่วมงาน เหมือนลงเรือลำเดียวกัน จะสามารถแสดงฝีพายที่นำไปสู่จุดหมายปลายทางได้ เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะไปถึงจุดหมายปลายทางได้ บุคลากรใหม่ทุกท่านจึงจำเป็นต้องรู้จักมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นองค์การหนึ่ง และต้องเข้าใจให้ครบถ้วนว่า องค์การนี้มีอุดมการณ์อย่างไร มีแนวทางการดำเนินงานอย่างไร เพื่อที่จะได้ใช้เป็นกรอบและแนวทางในการดำเนินงาน และอยากให้ทุกท่านได้รู้จักสถานะของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์อย่างแท้จริง

 


          ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี กล่าวว่า จากวันที่ก่อตั้งมหาวิทยลัยจนถึงขณะนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีการเปลี่ยนแปลงเป็น “มหาวิทยาลัยวิจัยสมบูรณ์แบบ” เปิดการเรียนการสอนครอบคลุมทั้ง 3 สาขาวิชา คือ วิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  และสังคมศาสตร์ แต่ละสาขาวิชามีผลงานวิจัยที่โดดเด่น เมื่อทุกท่านมาทำงานที่นี่มหาวิทยาลัยจะดูแลท่านให้ดีที่สุด และหวังว่าเมื่อเราดูแลท่านดีแล้วท่านก็ต้องดูแลมหาวิทยาลัยด้วย ให้คิดว่าท่านได้มาอยู่ในบ้านหลังนี้ร่วมกัน ในอนาคตหากอยากเห็นบ้านหลังนี้พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น จึงต้องไม่ปล่อยให้เป็นภาระของใครคนใดคนหนึ่ง ให้ท่านถือว่าเป็นบ้านของเรา ที่เราต้องดูแล เป็นอาจารย์ต้องดูแลลูกศิษย์ เป็นสายปฏิบัติการมีหน้าที่ส่งเสริม บุคลากรทุกฝ่ายของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นสายวิชาการหรือสายปฏิบัติการ มีหน้าที่ร่วมกันคือทำหน้าที่ของท่านให้ดีที่สุดเพื่อนำพามหาวิทยาลัยไปสู่เป้าหมาย มหาวิทยาลัยมีความมั่นคงในตำแหน่งการงาน สายวิชาการ เป็นอาจารย์ สามารถทำงานวิชาการมีตำแหน่งวิชาการเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ เทียบกับราชการ คือ C8 ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ เทียบราชการ คือ C9 และศาสตราจารย์ เทียบเท่ากับ C10 ส่วนสายปฏิบัติการก็มีความก้าวหน้าในอาชีพสามารถเป็นระดับชำนาญการ ระดับเชี่ยวชาญ หรือเชี่ยวชาญพิเศษ มหาวิทยาลัยเปิดเส้นทางอนาคตให้ทุกท่านไขว่คว้าความก้าวหน้าตามความสามารถของท่าน


 

 

          ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวต่ออีกว่า บุคลากรใหม่ทุกท่านเมื่อได้เข้ามามหาวิทยาลัยคงได้เห็นถึงความสวยงามของสถานที่ ห้องทำงาน หรือห้องเรียนที่สวยงามได้มาตรฐานสากล และขณะนี้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ได้จัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาออกเป็น 4 กลุ่ม โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอเข้าไปอยู่ในกลุ่มที่ 1 คือ “กลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัยระดับแนวหน้าของโลก” ซึ่งทั้งประเทศมีทั้งหมด 12 มหาวิทยาลัย ซึ่งทุกมหาวิทยาลัยเหล่านั้นมีอันดับโลกหมดแล้วเหลือแค่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่ยังไม่มีอันดับโลก แต่ถึงแม้ไม่มีอันดับโลก เราก็จะเข้าไปอยู่ในกลุ่มนี้เพราะถือเป็นความท้าทายที่ทุกท่านจะต้องช่วยกัน เพื่อวันหนึ่งข้างหน้ามหาวิทยาลัยของเราจะต้องมีอันดับโลกให้ได้

ประมวลภาพ

 

ข่าวและภาพโดย

 

น.ส.ชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร