Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

9 จุดเด่นของ “แก้วแสนเดงกีโมเดล: โมเดลตำบลประชารัฐแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก”

อัพเดท : 24/02/2564

935

องค์การบริหารส่วนตำบลแก้วแสน อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช และศูนย์ความเป็นเลิศไข้เลือดออกและสาธารณสุขชุมชน สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมแก้ปัญหาไข้เลือดออกระดับตำบล

ตำบลแก้วแสน ประกอบด้วย 10 หมู่บ้าน จำนวน 7,068 คน จำนวน 2,372 ครัวเรือน 5 โรงเรียน 4 วัด 4 ศูนย์เด็กเล็ก และ 2 โรงพยาบาลส่งเสิมสุขภาพ สถานการณ์ปัญหาโรคไข้เลือดออกของประชาชนทั้ง 10 หมู่บ้านของตำบลแก้วแสน ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2557 – 2563 ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยสูงสุดจำนวน 47 ราย เกิดค่ารักษาพยาบาลรวม 214,632 บาท โดยเฉลี่ยต่อราย 4,560 บาท เกิดค่าใช้จ่ายสูงในการป้องกันและรักษาส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และด้านคุณภาพชีวิตของประชาชนในตำบลแก้วแสน

“แก้วแสนเดงกีโมเดลฯ” เป็นนวัตกรรมตำบลประชารัฐแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก มุ่งเน้นความเข้มแข็งของชุมชนทั้งจากภาครัฐและประชาชน เพื่อช่วยในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืน ดำเนินการโดยวิธีการเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของชุมชน ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ การประเมินสถานการณ์ การวางแผน การดำเนินการ และการประเมินผล เก็บรวบรวมข้อมูลแบบผสมผสานวิธีการทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพจากการสนทนากลุ่ม กิจกรรมกลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนาร้อยละ ความถี่ และวิเคราะห์เปรียบเทียบก่อนหลังดำเนินการ และการสรุปผล ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ ได้แก่

1) ความพร้อมของเครือข่าย การดำเนินการครอบคลุมประชากร 7,068 คน 2,372 ครัวเรือน 5 โรงเรียน 4 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 2 รพ.สต. อสม. 134 คน และผู้นำท้องที่ ของ 10 หมู่บ้าน

2) ประเมินสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของครัวเรือนในชุมชนโดยมีตัวแทนครัวเรือนจำนวน 793 ครัวเรือน

3) ระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลาย 6 ขั้นตอน โดยกำหนดหน้าที่บทบาทของ อสม. 10 หมู่บ้านมี อสม. ประจำบ้าน 134 คน หัวหน้าโซน 30 คน และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการคำนวนดัชนีลูกน้ำยุงลาย https://nakhonsi.denguelim.com

4) ข้อมูลทำนายหมู่บ้านความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้เลือดออกของ 10 หมู่บ้าน

5) พัฒนาสมรรถนะด้านความเข้าใจเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกและระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายแก่แกนนำ อสม. ตัวแทนครัวเรือน และตัวแทนนักเรียน

6) นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก “1 หมู่บ้าน 1 นวัตกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น” จำนวน 10 นวัตกรรม และ 4 นวัตกรรมภูมิปัยญาท้องถิ่นของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

7) ระดับดัชนีลูกน้ำยุงลาย และอัตราการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก (ราย/100,000 ประชากร) ลดลง อย่างชัดเจนทั้งในภาพรวมและรายหมู่บ้านในรอบ 7 ปีของตำบลแก้วแสน

8) การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มีระดับความพึงพอใจในระดับมากถึงมากที่สุด สอดคล้องกับการประเมินเชิงคุณภาพที่สะท้อน “แก้วแสนเดงกีโมเดล เข้มแข็ง เพราะแรงเสริมจากทุกฝ่าย”

9) ต้องการดำเนินการต่อเนื่อง ข้อสะท้อนคิด “แก้วแสนเดงกีโมเดลฯ” เป็นการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ตามแนวคิด “ทำให้ง่าย ทำเป็นทีม ทำพร้อมกัน และทำต่อเนื่อง”

แก้วแสนเดงกีโมเดลฯ เป็นโมเดลหรือรูปแบบการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ด้วยหลักคิด “ทำให้ง่าย ทำเป็นทีม ทำพร้อมกัน ทำต่อเนื่อง” เป็นนวัตกรรมตามวิถีของแก้วแสน สามารถติดตั้งระบบในระยะเวลา 6 เดือน เรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติระบบเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกในระดับตำบล

การเปลี่ยนแปลงของชุมชนตำบลแก้วแสนในการแก้ปัญหาไข้เลือดออกหลากหลายด้าน อย่างไรก็ตามความต่อเนื่องจำเป็นต้องได้รับการติดตามจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องกับประเด็นการสะท้อนคิดจากการถอดบทเรียนของตัวแทนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่า “แก้วแสนเดงกีโมเดล: โมเดลตำบลประชารัฐแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก” มีประโยชน์ ต้องการให้ทำต่อเนื่อง เพราะดำเนินการกิจกรรมเป็นรูปธรรม และการประเมินผลเชิงประจักษ์