Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ จับมือ ททท. เอ็มโอยูขับเคลื่อนการท่องเที่ยวมิติใหม่ด้วย Application มานะ มานครฯ

อัพเดท : 17/09/2564

1542


เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา  ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.)  และ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกัน ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง ททท.กับ มวล. ซึ่ง ททท.นครศรีฯ และมวล. ได้ร่วมกันจัดทำ Application มานะ มานคร เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในมิติใหม่ที่ก้าวทันต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมี นายเอกวิทย์ มีเพียร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ตลอดจนผู้บริหารของม.วลัยลักษณ์ ผู้บริหารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้บริหารภาครัฐ ภาคเอกชน สายการบิน สื่อมวลชน ร่วมกันเป็นสักขีพยานการลงนาม ณ ห้องศรีธรรมราช อาคารสถาปัตยกรรมฯ  พร้อมร่วมกันมอบตั๋วรางวัลเครื่องบินจาก 5 สายการบิน ให้แก่ผู้โชคดีจากการร่วมกิจกรรม Nakhon City Night Tour

ม.วลัยลักษณ์ จับมือ ททท. เอ็มโอยูขับเคลื่อนการท่องเที่ยวมิติใหม่ด้วย Application

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์รู้สึกเป็นเกียรติที่ ททท.เล็งเห็นศักยภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะช่วยพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ มาเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยว ด้าน Digital Marketing โดยปัจจุบันสำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันต่อยอดงานวิจัยพัฒนาเป็น Mobile Applications “มานะ มานคร” ซึ่งใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม (Augmented Reality) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า AR มาประยุกต์ใช้ในการทำการตลาด ตอบโจทย์ Lifestyle ของนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในท้องถิ่นให้มีรายได้เพิ่มขึ้น  Applications “มานะ มานคร” อาจถือได้ว่าเป็นการต่อยอดงานวิจัยเพื่อนำมาใช้งานอย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

ด้านนางพิชญ์สินี ทัศน์นิยม ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ททท.พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตามนโยบายรัฐบาลในการเปิดประเทศและยกระดับประเทศไทยสู่ Truly world-class destination โดยเน้นย้ำให้นักท่องเที่ยวที่มีแผนการเดินทางคำนึงถึงความปลอดภัยตลอดระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทาง และเงื่อนไขให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับวัคซีน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่น้อยและมีมาตรการ กำกับเพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่เชื้อ สถานประกอบการได้รับ มาตรฐาน SHA+ ตามแบบการท่องเที่ยววิถีใหม่ (New Normal) ดังนั้น การนำเทคโนโลยีสารสนเทศด้าน Digital Marketing มาพัฒนาเป็น Application มานะ มานครดึงระบบ AR มาใช้ เป็นการตอบโจทย์ Lifestyle ของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Gen Y คืออายุระหว่าง 18 - 35 ปีและกลุ่มวัยทำงาน อายุระหว่าง 25- 45 ปี ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันเพื่ออำนวยความสะดวก และค้นหาข้อมูลในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญเป็นกลุ่มที่ไปเที่ยวที่ไหนแล้วมักบันทึกภาพ ในแหล่งท่องเที่ยวนั้น ๆ ถึงร้อยละ 73 ดังนั้น Application มานะ มานคร จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพิ่มความถี่ด้านการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ททท. สำนักงานนครศรีธรรมราช ได้กระจายจุด Check in  รวม  31 จุด ภายใน 16 อำเภอนำร่อง จาก 23 อำเภอ

ภายใต้ นิยาม ( Value Proposition ) เที่ยวสนุก สุข สะสม พร้อมทั้งผนวก Application หรอยจัง ที่ทาง มวล ได้จัดทำขึ้นเป็นการบอกเรื่องราวอัตลักษณ์ของอาหารถิ่น นอกจากนี้ Application มานะ มานคร ยังเป็นการรวมตัวของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐาน SHA หรือผู้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรฐาน SHA ได้สมัครร่วมโครงการมากกว่า 200 แห่ง พร้อมนำเสนอส่วนลด รวมถึงการสะสมแต้มเพื่อแลกรางวัล เช่น ผู้ประกอบการมอบส่วนลด 5 เปอร์เซ็นต์ และ 10 เปอร์เซ็นต์ จากการสะสมจุด Check in 10 และ 20 จุดตามลำดับ หรือนำมาแลกรางวัลจาก ททท หมอนรองคอ  หรือกระเป๋าล้อลาก จากการสะสมจุด Check in 15 จุด และ 25 จุด ถือเป็นการส่งมอบคุณค่าและพัฒนาต่อยอดต่อไป นอกจากนี้ ในวันดังกล่าว ททท.และพันธมิตรด้านการท่องเที่ยว มอบบัตรโดยสารเที่ยวบินจาก 5 สายการบิน ให้กับผู้โชคดี จากการร่วมกิจกรรม Nakhon City Night Tour ที่ผ่านมา

ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานนครศรีธรรมราช กล่าวในตอนท้ายว่า นครศรีธรรมราช มีความตื่นตัวของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในเรื่องการขอรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยของสถานประกอบการ SHA (Safety & Health Administration) ซึ่งในขณะนี้มีจำนวน 122 ราย ส่วนการยกระดับสู่มาตรฐาน SHA+ นั้น จะเป็นการร่วมมือกันของพันธมิตรทางการท่องเที่ยว โดยมีคณะกรรมการพิจารณามาตรฐาน SHA+  แต่งตั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด  ให้ปฏิบัติหน้าที่พิจารณาคัดเลือกสถานประกอบการที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมมาตรฐาน SHA+ ตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด (Standard Operation Procedure SOP) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางแก่นักท่องเที่ยว เตรียมความพร้อมที่จะเปิดประตูเมืองให้การท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง