Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ม.วลัยลักษณ์ ร่วมกับ รพ.สต.บ้านทุ่งชน ผลักดัน “น้ำมันนวดไพล” และ “สเปรย์สมุนไพรไล่ยุง” สู่มาตรฐานผลิตภัณฑ์สมุนไพร

อัพเดท : 08/04/2565

546

สเปรย์สมุนไพรไล่ยุง

          เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย อาจารย์ ดร.ฉวีวรรณ  คล่องศิริเวช พร้อมด้วยคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ ร่วมกับ บุคลากรโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลบ้านทุ่งชน ประชุมเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์สมุนไพรสู่มาตรฐานผลิตภัณฑ์สมุนไพร (น้ำมันนวดไพล และสเปรย์ไล่ยุง) ณ ห้องประชุม รพ.สต.บ้านทุ่งชน ตำบลหัวตะพาน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช         

          “โครงการยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรแบบครบวงจรเพื่อส่งเสริมสุขภาวะและสัมมาชีพชุมชน” เป็นโครงการต่อเนื่อง ปีที่ 3 ภายใต้ ชุดโครงการพันธกิจวิชาการรับใช้สังคมยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์แบบองค์รวม (WU – Social engagement) ปีงบประมาณ 2565 มุ่งเน้นชุมชนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพและสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการส่งเสริมการใช้สมุนไพรในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน และส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรแบบครบวงจร ยกระดับมาตรฐานรับรองและคุณภาพผลิตภัณฑ์ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายข้อ 3 การพัฒนาด้านสุขภาพในพื้นที่ให้มีหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย (Good health and Well-being) เป้าหมายข้อ 1 ขจัดความยากจนในทุกรูปแบบ ทุกที่ (No Poverty) และเป้าหมายข้อ 17 การทำงานแบบเชิงบูรณาการภาคีหุ้นส่วนความร่วมมือ (Partnerships for the Goals)

           ในการนี้ อาจารย์ ดร.ฉวีวรรณ  คล่องศิริเวช ในฐานะหัวหน้าโครงการ ร่วมกับ บุคลากร รพ.สต.บ้านทุ่งชน  ได้เปิดเวทีระดมความคิดเห็น เรื่องแนวทางการต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีมาตรฐานรองรับ ตลอดจนให้คำปรึกษาด้านการใช้สมุนไพร โดยที่ประชุมมีความสนใจและต้องการที่จะพัฒนา “ผลิตภัณฑ์น้ำมันไพล และสเปรย์สมุนไพรไล่ยุง” แบบครบวงจร ยกระดับมาตรฐานรับรองและคุณภาพผลิตภัณฑ์ การพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์วัตถุดิบสมุนไพร บรรจุภัณฑ์ และตราสัญลักษณ์ที่เหมาะสม และลดต้นทุน ออกแบบช่องทางการตลาดเข้าถึงง่าย และดึงดูดลูกค้า สร้างระบบการบริหารจัดการกลุ่ม และการบริหารการเงินกลุ่ม และการใช้สมุนไพรในระบบบริการสุขภาพ การใช้บริการการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกในสถานบริการภาครัฐ ทั้งนี้ คณะทำงานโครงการฯ จะนำข้อมูลดังกล่าว เตรียมยื่นขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์สมุนไพร ต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในการจัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการในขั้นต่อไป

รายละเอียดเพิ่มเติม : https://cas.wu.ac.th/?p=16142