Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

รมว.อว. ชื่นชม ม.วลัยลักษณ์ มีพัฒนาการก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในทุกมิติ

อัพเดท : 01/12/2565

1391

เมื่อช่วงเย็นวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา นายธีระชัย เชมนะสิริ นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำทีมผู้บริหารระดับรองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี และคณบดีสำนักวิชาต่างๆ เข้าพบ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) และคณะผู้บริหารของกระทรวง เพื่อรายงานผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยพร้อมรับฟังนโยบายการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยจาก รมว.อว. โดยมีผู้บริหารบุคลากรของทั้ง 2 หน่วยงานเข้าร่วม ณ ห้องรับรอง ลัคกี้ภัตตาคาร อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี


โอกาสนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รายงานสรุปผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ให้แก่ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว.และคณะรับทราบ ผ่านวิดีทัศน์ของมหาวิทยาลัย ซึ่ง รมว.อว. ได้กล่าวชื่นชมผู้บริหารของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่นำโดยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ที่ได้ช่วยกันขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในทุกมิติ 

จากนั้น ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก ได้กล่าวให้นโยบายกับผู้บริหารของม.วลัยลักษณ์ความสำคัญว่า อยากให้มหาวิทยาลัยได้มีการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ ทั้งเก่ง ดีและมีความสามารถ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาในเรื่อง soft skill เพื่อให้สามารถจบไปแล้วสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชน พัฒนาประเทศต่อไป และหากมหาวิทยาลัยมีการเปิดหลักสูตรใหม่ก็ขอให้เปิดหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ เพื่อให้บัณฑิตที่จบออกไปแล้วสามารถนำความรู้ไปพัฒนาพื้นที่และประเทศชาติได้ ส่วนในเรื่องงานวิจัยอยากเห็นงานวิจัยของมหาวิทยาลัยที่ตอบโจทย์พื้นที่ได้จริงโดยเฉพาะพื้นที่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช และภาคใต้ตอนบน  ให้มหาวิทยาลัยสามารถเป็นที่พึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช ของภาคใต้และของประเทศได้ต่อไป

ด้านศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า เรื่องการผลิตบัณฑิต มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ดำเนินการสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงอว. โดยมีปณิธานในการผลิตบัณฑิตให้เป็นทั้งคนดีและคนเก่งด้วยหลักนิยม 4 ประการ คือ “กตัญญู รู้วินัย ใจอาสา พัฒนาภาวะผู้นำ” มีระบบอาจารย์ที่ปรึกษาดูแลให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังมีการปฏิรูปการเรียนการสอน โดยการนำระบบ UKPSF จากประเทศอังกฤษมาใช้ในการเรียนการสอน ปัจจุบันอาจารย์ของม.วลัยลักษณ์ผ่านการรับรองมาตรฐานดังกล่าวจำนวน 576 คน มากที่สุดในประเทศไทย 

นอกจากนี้ยังปรับรูปแบบสหกิจศึกษาจาก 4 เป็น 8 เดือน ในทุกหลักสูตร ซึ่งผลจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวสามารถพัฒนา soft skill ของนักศึกษาได้อย่างดี ทำให้สถานประกอบการได้รับประโยชน์และนักศึกษามีโอกาสได้งานทำหลังเรียนจบเพิ่มขึ้น ซึ่งต่างๆเหล่านี้สิ่งเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมให้บัณฑิตของเราทุกคนมี soft skill สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวต่อไปอีกว่า ในส่วนของการวิจัยปัจจุบันม.วลัยลักษณ์อยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัยระดับแนวหน้าของโลก (Global & Frontier Research)  ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คณาจารย์ทุกคนได้ร่วมกันขับเคลื่อนการวิจัยอย่างเข้มข้น มีจำนวนผลงานวิจัยมากขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะปี 2565 ผลงานวิจัยของเรามีจำนวน 675 บทความแล้ว และตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Scopus Q1,Q2 กว่า 82.79% เป็นอันดับ 2 ของประเทศ ที่สำคัญในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพิ่งได้รับการจัดอันดับโลก World University Rankings จัดโดย Times Higher Education (THE) ให้อยู่ในอันดับที่ 1501+ ของโลกและเป็นอันดับที่ 11 ของประเทศไทย สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของอาจารย์ผู้สอน และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์