
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือทางด้านกล้องโทรทรรศน์วิทยุวีกอส จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. โดยร่วมกันวิจัยและพัฒนาทักษะความรู้ทางด้านดาราศาสตร์วิทยุ โดยใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุวีกอสเป็นเครื่องมือหลัก เตรียมสร้างอาคารฐานกล้องและติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในปี 2568
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567 ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือทางด้านกล้องโทรทรรศน์วิทยุวีกอส จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.วาริท เจาะจิตต์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ลงนามเป็นพยาน ร่วมด้วยผู้บริหารและพนักงานของทั้งสองหน่วยงาน ณ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
บันทึกความเข้าใจนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมโครงการความร่วมมือทางด้านกล้องโทรทรรศน์วิทยุวีกอส (VLBI Global Observing System: VGOS) จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้งการสนับสนุนให้บุคลากรของหน่วยงานทั้งสองฝ่ายได้รับการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางด้านดาราศาสตร์และวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องระหว่างกัน โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จะร่วมกันบริหารโครงการก่อสร้างอาคารที่เป็นฐานกล้องและติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุวีกอส ขนาด 13 เมตร ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบัน Shanghai Astronomical Observatory (SHAO), Chinese Academy of Science, China มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2568 ซึ่งในส่วนของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จะรับผิดชอบจัดหาและมอบการใช้พื้นที่ให้แก่ สดร. เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของกล้องโทรทรรศน์วิทยุวีกอส และทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันบริหารจัดการและประสานงานกับ SHAO เพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารฐานกล้อง ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุวีกอส ตัวรับสัญญาณ และทดสอบการใช้งานต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า ในนามของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางด้านกล้องโทรทรรศน์วิทยุวีกอส เรื่องนี้ได้มีการนำเข้าสภามหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้วและได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่ง รวมทั้งพื้นที่ของมหาวิทยาลัยก็เป็นพื้นที่ซึ่งเหมาะที่จะมีกล้องโทรทรรศน์วิทยุ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านดาราศาสตร์ของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทางคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยก็มีความสนใจและสนับสนุนอย่างเต็มที่เช่นกัน ในวันนี้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์อาจจะยังไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องของดาราศาสตร์ แต่เรามีสาขาวิชาฟิสิกส์ที่แข็งแรง ต่อไปอาจจะมีเอกทางด้านดาราศาสตร์ เพื่อเราจะได้มีอาจารย์และนักวิจัยโดยตรงทางด้านนี้ ก็จะเป็นการสนับสนุนด้านดาราศาสตร์ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ และขอขอบคุณในนามของคนไทย ที่ท่านผู้อำนวยการ สดร. และทีมงาน ได้สนับสนุนความก้าวหน้าด้านวิทยุดาราศาสตร์ไว้เป็นอย่างมาก ต่อไปเยาวชนจะได้เรียนรู้และทันโลก การลงนามบันทึกความเข้าใจในวันนี้จะเป็นก้าวแรกของความร่วมมือที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้นในอนาคต
ด้าน ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ถือว่าสำคัญมากที่จะมีการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ขนาด 13 เมตร หรือที่เรียกว่า กล้องวีกอส ซึ่งใช้งานได้หลายวัตถุประสงค์ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งเครื่องมือทางดาราศาสตร์วิทยุนับว่าเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุด และในเรื่องนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งพระองค์ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ ทรงทราบแล้วว่าจะมีสถานีวีกอสเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่มีความร่วมมือกับ สดร. และไม่ได้มีแค่นี้ต่อไปอาจจะมีเรื่องอื่น ๆ ตามมาอีกในมิติของการสร้างความตระหนัก การสื่อสารดาราศาสตร์และการวิจัยด้วย
การร่วมกันวิจัยและพัฒนาทักษะความรู้ทางด้านดาราศาสตร์วิทยุ โดยใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุวีกอสเป็นเครื่องมือหลักสำหรับการศึกษาด้านยีออเดซี่ (Geodesy) หรือที่เรียกกันว่าภูมิมาตรศาสตร์ เพื่อศึกษารูปร่าง สัณฐานและลักษณะเฉพาะต่าง ๆ ของโลก ผ่านศาสตร์การรังวัด ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีความถูกต้องสูงระดับมิลลิเมตรโดยบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เกี่ยวข้องและได้รับจากกล้องโทรทรรศน์วีกอส เพื่อการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ รวมทั้งกิจกรรมอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัย และผลงานวิจัยหรือผลงานวิชาการต่าง ๆ ที่ได้รับจากกล้องโทรทรรศน์วีกอส จะให้มีการระบุชื่อมหาวิทยาลัยอยู่ในผลงานด้วย
นอกจากนี้ สดร. จะให้การสนับสนุนการถ่ายทอดทักษะความรู้และเทคโนโลยีทางด้านดาราศาสตร์และวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการให้กับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อาทิ ทักษะความรู้ทางด้านดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี่ (Geodesy) เทคโนโลยีระบบรับและประมวลสัญญาณคลื่นวิทยุ การพัฒนาระบบควบคุมกล้องโทรทรรศน์วิทยุ การวิเคราะห์ข้อมูลและวิทยาการข้อมูล เป็นต้น เพื่อให้ทั้งสองหน่วยงานได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และเพิ่มพูนทักษะความรู้ร่วมกัน รวมไปจนถึงการต่อยอดความร่วมมือด้านอื่น ๆ ในอนาคตด้วย
ภาพและข่าวโดย: งานประสานงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กรุงเทพมหานคร ส่วนอำนวยการและสารบรรณ