Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

สัมมนาเชิงปฏิบัติการ "ฝึกอ่าน เขียน เรียนร้อยกรองทำนองไทย ๔ ภาค" มีผู้สนใจร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง

อัพเดท : 13/02/2556

1646


 

อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "ฝึกอ่าน เขียน เรียนร้อยกรองทำนองไทย ๔ ภาค" ระหว่างวันที่ ๗-๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม ๑ อาคารวิจัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีคณะครู อาจารย์จากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วภาคใต้ เช่น ตรัง สงขลา สตูล ยะลา และกระบี่ มีผู้เข้าร่วมสัมมนา จำนวนประมาณ ๒๐๐ คน
 

กิจกรรมเสวนา "เสนาะศิลป์ ร้อยกรองทำนองไทย" กับศิลปินแห่งชาติ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อาจารย์บุญเสริม แก้วพรหม และอาจารย์สมใจ สมคิด อาจารย์สำนักวิชาศิลปศาสตร์ ร่วมเสวนา นักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เข้าร่วมประมาณ ๗๐ คน และเยาวชน ประมาณ ๘๐ คน ศิลปินแห่งชาติเนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์ ได้เน้นในเรื่องความแตกต่างของภาษาไทยที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของแต่ละพื้นที่ ทำให้เกิดภาษา สำเนียง ท่วงทำนองของภาษาไทยที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นและสะท้อนความเป็นชุมชนที่เยาวชนควรร่วมกันอนุรักษ์และสืบทอดให้ธำรงอยู่คู่กับชุมชนต่อไป
 

หลังจากกิจกรรมเสวนา ผู้เข้าร่วมสัมมนาก็เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ "รู้สำเนียง รู้เสียงภาษาไทยสี่ภาค" ที่เน้นในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในฉันทลักษณ์ คำประพันธ์ และศิลปะทางภาษาซึ่งเป็นงานวรรณศิลป์ ในรูปแบบการจัด การฝึก ร้อยกรองทำนองไทย ทั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ และศิลปินพื้นบ้านผู้เป็นแม่แบบทางวัฒนธรรม ในการศึกษาเรียนรู้ภาษาถิ่น ในการฝึกขับร้องร้อยกรองทำนองไทยภาคกลาง ได้รับเกียรติจากวิทยากร ๒ ท่าน คือ คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ และ ดร.วัฒนะ บุญจับ สำนักวรรณกรรม กรมศิลปากร ที่เน้นการฝึกร้อยกรอง เสภา และเพลงพื้นบ้านภาคกลางภาคเหนือ ได้รับเกียรติจากวิทยากร ๒ ท่าน คือ นางบัวซอน ถนอมบุญ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๕ และนายภานุทัต อภิชนาธง ศิลปินพื้นบ้านล้านนา ที่เน้นการฝึกบทค่าว  ซอ เพลงอื่อ สวด กะรง(โคลง) พร้อมกับนำเครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคเหนือมาให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เรียนรู้
 

ภาคอีสาน ได้รับเกียรติจาก ผศ.ชุมเดช เดชภิมล อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่เน้นการฝึกขับร้องร้อยกรองทำนองไทยภาคอีสานอย่างการลำ และสวด และในภาคใต้ได้รับเกียรติจากวิทยากร ๔ ท่าน คือ หนังเอิบน้อย ยอดขุนพล หนังตะลุงรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพลงบอกสมใจ ศรีอู่ทอง เพลงบอกรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพลงบอกสุรินทร์ เสียงเสนาะ เพลงบอกรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ รศ.ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ ผู้อำนวยการอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ ดำเนินรายการ และฝึกขับร้องร้อยกรองทำนองไทยภาคใต้ที่เน้นการขับหนังตะลุง และทอกเพลงบอก
 

นอกจากได้เรียนรู้พื้นฐานการอ่าน เขียน ร้อยกรองไทยทั้ง ๔ ภาค ผู้เข้าร่วมสัมมนายังได้ฝึกภาคปฏิบัติ  ด้วยการจัดแบ่งกลุ่มย่อยตามความสนใจไปเรียนรู้เทคนิค การอ่าน-เขียน ของแต่ละภาค ซึ่งมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำชี้แนะอย่างใกล้ชิด
 

จากแบบประเมินโครงการที่อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ได้จัดขึ้น ผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่ให้ระดับความพึงพอใจในระดับดีมากและต้องการให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จัดโครงการที่ส่งเสริมด้านภาษาไทยอีกต่อไป และให้มีจำนวนวันเพิ่มขึ้น
 

รายละเอียดเพิ่มเติม : http://cultural.wu.ac.th/