Location

0 7567 3000

ข่าวทั่วไป

หน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืนร่วมหารือกับรองผู้ว่าฯ เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวสิชล-ท่าศาลา

อัพเดท : 08/03/2556

2193

ผศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ และ ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ คณาจารย์ในหน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เข้าร่วมประชุมหารือเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอำเภอสิชลในการประชุมร่วมภาครัฐและภาคธุรกิจท่องเที่ยว เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา ณ สิชล คาบาน่ารีสอร์ท อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายทรงพล สวาสดิ์ธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นประธานในที่ประชุม มีตัวแทนหน่วยงานภาครัฐอำเภอท่าศาลา และอำเภอสิชล หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดนครศรีธรรมราช สถาบันการศึกษาต่าง ๆ รวมถึงธุรกิจการท่องเที่ยวในอำเภอสิชลและท่าศาลา
 
นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีการวางแผนพัฒนาในรูปแบบคลัสเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นคลัสเตอร์คีรีวง-ช้างกลาง สิชล-ท่าศาลา ขนอม เป็นต้น และได้มีการวางแผนจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้กำลังมุ่งที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวในอำเภอสิชลและท่าศาลา เพื่อกระจายการท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราชออกมานอกตัวจังหวัด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีศักยภาพ อาทิ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่มีการเรียนการสอนทางด้านการท่องเที่ยว การตลาด รวมไปถึงสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช
 
การประชุมครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวสิชล-ท่าศาลา ผ่านการจัดกิจกรรมทางการตลาดการท่องเที่ยว โดยกำหนดจัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ด้วยแนวคิดเบื้องต้น Retro Beach Party ณ หาดหินงาม อำเภอสิชล โดยความร่วมมือของธุรกิจการท่องเที่ยวสิชล-ท่าศาลา และหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการนำเสนอความคลาสสิคของสิชลผ่านกิจกรรมรถคลาสสิค และกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะย้อนวันวานของสิชล
 
โอกาสนี้ ผศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ ได้เสนอแนวคิดการสร้างตราสินค้าของอำเภอสิชลผ่านกิจกรรมในครั้งนี้ และเสนอแนะให้มีการพัฒนาหรือวางแนวทางการพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวภายใต้แนวคิดตราสินค้าที่กำหนด เพื่อมุ่งหวังให้นักท่องเที่ยวรับรู้และเข้าใจถึงเอกลักษณ์ตัวตนของตราสินค้าที่จะนำไปสู่ความแตกต่างจากแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ
 
ขณะที่ ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ ได้เสนอแนะให้การพัฒนาการท่องเที่ยวคำนึงถึงความยั่งยืนบนพื้นฐานของศักยภาพทรัพยากรและอัตลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยว และสอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น พร้อมทั้งให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการเชื่อมโยงการจัดกิจกรรม Retro Beach Party กับกิจกรรมในแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของอำเภอสิชล เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมนี้ได้มีโอกาสสัมผัสแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยต้องคำนึงถึงความยั่งยืนในระยะยาวของการท่องเที่ยวภายหลังจากที่มีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย
 
อนึ่ง คณาจารย์ในหน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืนกำลังดำเนินโครงการศึกษาศักยภาพและมูลค่าผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวต่อการสร้างรายได้ในพื้นที่ภาคใต้ และพัฒนาโปรแกรมการท่องเที่ยวใหม่ ที่จะก่อให้เกิดการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยว โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย(สกว.) และการพัฒนาการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำในเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยได้รับทุนงบประมาณแผ่นดินปี 2556 รวมไปถึงการพัฒนาตัวชี้วัดเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคใต้