Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

มวล. ขับเคลื่อน "วลัยลักษณ์สุขภาพโมเดล" ลงพื้นที่ส่งเสริมสุขภาพชุมชนและกลุ่มเปราะบาง พื้นที่รพ.สต.บ้านทุ่งชน

อัพเดท : 03/07/2568

95

          วันที่ 19 23 และ 26 มิถุนายน 2568 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ กำไล สมรักษ์ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉวีวรรณ คล่องศิริเวช สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์โองการ หรันเต๊ะ สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ อาจารย์ ดร.วันทนีย์ โยชน์ชัยสาร สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ และแกนนำนักศึกษาพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการวิชาการ นำโดยหัวหน้าฝ่ายวิชาการรับใช้สังคมฯ และทีมงานมิติสุขภาพ ร่วมกับเจ้าหน้าที่แกนนำ อสม.รพ.สต.บ้านทุ่งชน ลงพื้นที่ปฏิบัติงานเชิงรุก เยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดเตียง ผู้ที่มีปัญหาด้านจิตวิทยา และกลุ่มแรงงานต่างด้าว ในเขตพื้นที่หมู่ที่ 1 ,2, 3 ,4 , 5 , 6 ,7, 8 และ 9 ตำบลโมคลาน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนรศรีธรรมราช จำนวน 13 หลังคาเรือน ซึ่งอยู่ในพื้นที่การดูแลของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านทุ่งชน

          การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้นำศาสตร์ด้านสุขภาพในหลากหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นสาขาวิชาพยาบาล สาขาวิชาเภสัช และสาขาวิชาจิตวิทยา และกายภาพบำบัดเพื่อให้บริการด้านสุขภาพ อาทิ การตรวจประเมินสุขภาพเบื้องต้น การให้คำแนะนำด้านโภชนาการ การฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพในระบบบริการสุขภาพของรัฐ

          กิจกรรมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดโครงการ “วลัยลักษณ์สุขภาพโมเดล : ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต สร้างสุขภาวะอย่างยั่งยืน พื้นที่ชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย” โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสุขภาวะของประชาชนในชุมชนและกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้ลี้ภัย แรงงานผู้อพยพย้ายถิ่น และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผ่านการดำเนินงานในกิจกรรมย่อยต่าง ๆ ได้แก่

กิจกรรมย่อยที่ 3: การยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสมุนไพร สู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันนวดสมุนไพรชุมชน

กิจกรรมย่อยที่ 4: การสร้างเสริมสุขภาพให้กับกลุ่มเสี่ยง ผู้ลี้ภัยและแรงงานผู้อพยพย้ายถิ่นในพื้นที่

กิจกรรมย่อยที่ 6: การสร้างเสริมสุขภาวะทางกาย จิตใจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน

          ทั้งนี้ ชุดโครงการดังกล่าวยังมีเป้าหมายสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 3: การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-being) และเป้าหมายที่ 17: ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnerships for the Goals) พร้อมสอดคล้องกับนโยบาย “WU Happy Tree” และ UI GreenMetric Ranking ด้าน ED ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสีเขียวและรับใช้สังคมอย่างเป็นรูปธรรม

 

รายละเอียดเพิ่มเติม : https://cas.wu.ac.th/archives/34659