Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

บทความของหน่วยวิจัยเทคโนโลยีโมเลกุล (Molecular Technology Research Unit, MTRU) ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ

อัพเดท : 07/08/2556

2863

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมผกา ฮาร์ดิง หัวหน้าหน่วยวิจัยเทคโนโลยีโมเลกุล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยผลงานวิจัยของหน่วยวิจัยว่าในรอบครึ่งปี พ.ศ. 2556 นี้ ว่ามีบทความของหน่วยวิจัยเทคโนโลยีโมเลกุล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จำนวน 15 บทความ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับ ISI โดยมี 2 บทความเด่นที่สามารถตีพิมพ์ในวารสารที่มี Impact factor สูงมากในสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ คือ บทความวิจัยเรื่อง FeIII Quinolylsalicylaldimine Complexes: A Rare Mixed-Spin-State Complex and Abrupt Spin Crossover ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Chemistry-A European Journal ซึ่งเป็นวารสารคุณภาพที่มีค่า Impact Factor 5.831 โดยหน่วยวิจัยเทคโนโลยีโมเลกุลเป็นหน่วยงานแรกที่สังกัดมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคของไทยที่บทความได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์ในวารสารดังกล่าวและนับเป็นบทความเรื่องที่สี่ของนักวิจัยในประเทศไทยในฐานะผู้เขียนหลัก ส่วนบทความวิจัยเรื่อง Abrupt spin cross in an iron (III) quinolylsalicylaldimine complex: structural insights and solvent effects ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Chemical Communications ซึ่งมีค่า Impact Factor มีค่า Impact Factor 6.378 ซึ่งนับเป็นบทความวิจัยเรื่องที่ 6 ที่มีผู้เขียนหลักเป็นนักวิจัยในประเทศไทยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร การที่บทความดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับแนวหน้าเช่นนี้ นับเป็นการพิสูจน์ถึงคุณภาพของงานวิจัยที่รังสรรค์โดยนักวิจัยของหน่วยวิจัยว่ามีคุณภาพทัดเทียมระดับสากล


อนึ่ง หน่วยวิจัยเทคโนโลยีโมเลกุล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พัฒนามาจากหน่วยวิจัยฟิสิกส์ทดลอง ซึ่งจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2545 ต่อมาในปี 2550 นักวิจัยจากหน่วยวิจัยฟิสิกส์ทดลอง ได้รวมกลุ่มกับนักวิจัยจากกลุ่มวิจัยเคมีอนินทรีย์สังเคราะห์ จัดตั้งเป็นหน่วยวิจัยเทคโนโลยีโมเลกุล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการงานวิจัยในระดับโมเลกุลเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง ทั้งทางด้านวิศวกรรมวัสดุ เกษตรกรรม และพลังงาน โดยแบ่งกลุ่มวิจัยเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ

1. ห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีคลื่น (Wave Technology Laboratory) โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สรศักดิ์ ด่านวรพงศ์ เป็นนักวิจัยหลัก ซึ่งมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีคลื่นในการประยุกต์เพื่อการเกษตรกรรม เช่น การใช้คลื่นเสียงในการตรวจวัดมังคุด

2. ห้องปฏิบัติการวิจัยวัสดุแม่เหล็ก (Magnetic Materials Laboratory) โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ชิตณรงค์ ศิริสถิตย์กุล เป็นนักวิจัยหลัก มุ่งเน้นการใช้พัฒนาวัสดุแม่เหล็กชนิดอนุภาคนาโนเหล็กแพททินัม เพื่อการประยุกต์ใช้เป็นฮาร์ดดิกส์แบบใหม่

3. ห้องปฏิบัติการวิจัยการออกแบบโมเลกุลและวัสดุเชิงฟังก์ชัน (Molecular Design & Functional Materials Laboratory) โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมผกา ฮาร์ดิง รองศาสตราจารย์ ดร.เดวิด เจมส์ ฮาร์ดิง และดร.อัปสร บุญยัง เป็นนักวิจัยหลัก โดยงานวิจัยจะมุ่งเน้นเป็น 3 กลุ่มย่อยคือ

  • การออกแบบและพัฒนาโมเลกุลสีย้อมโลหะรูธีเนียมและสังกะสีสำหรับการขึ้นรูปเซลแสงอาทิตย์แบบ Dye Sensitized Solar Cells เพื่อพัฒนามาใช้เป็นพลังงานทดแทนซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่งของวิกฤตพลังงานในปัจจุบัน
  • การออกแบบและพัฒนาวัสดุที่มีสมบัติสปินครอสโอเวอร์ เพื่อการประยุกต์ใช้เป็นหน่วยความจำแบบระดับโมเลกุล เซนเซอร์ หรือวัสดุในการทำจอแสดงผล
  • การพัฒนาวัสดุแก้วชีวภาพเพื่อการประยุกต์ใช้ทางการแพทย์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมผกา ฮาร์ดิง ได้กล่าวถึงแผนงานและวิสัยทัศน์ของหน่วยวิจัยใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะถือได้ว่าหน่วยวิจัยเทคโนโลยีโมเลกุลได้ถือกำเนิดและดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 10 ปี ว่านักวิจัยในหน่วยวิจัยมีแผนที่จะทำให้หน่วยวิจัยเทคโนโลยีโมเลกุลเป็นแหล่งเรียนรู้ทาง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยั่งยืนของทั้งในประเทศและขยายผลไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนอีกด้วย ซึ่งปลายปีนี้ทางหน่วยวิจัยจะมีห้องปฏิบัติการวิจัยที่ทันสมัยพร้อมรองรับนักวิจัยจำนวน 30 คน/ชั้น จำนวน 2 ชั้น ในพื้นที่อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ผู้ที่สนใจสามารถร่วมวิจัยกับนักวิจัยของหน่วยวิจัยได้หลายรูปแบบกล่าวคือ การร่วมทำวิจัยระยะสั้น ซึ่งในทุกช่วงปิดภาคการศึกษาฤดูร้อนทางหน่วยวิจัยได้จัดโครงการบ่มเพาะนักวิจัยรุ่นเยาว์ขึ้นทุกปีเพื่อเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ทั่วประเทศสามารถมาร่วมทำวิจัยกับนักวิจัยในหน่วยวิจัยได้ และการสมัครเป็นนักศึกษาบัณฑิตศึกษา ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถสมัครเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต หรือหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต โดยมีให้เลือก 2 สาขา คือ สาขาเคมี หรือ สาขาฟิสิกส์ ตามความถนัดของนักศึกษา โดยทางหน่วยวิจัยมีทุนการศึกษาสนับสนุนอย่างเต็มที่