Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ส่วนวิเทศฯ ม.วลัยลักษณ์ ลุยงานเตรียมความพร้อมนักศึกษาสู่ AEC

อัพเดท : 03/09/2556

3214

ส่วนวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เตรียมความพร้อมและพัฒนานักศึกษาก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อให้นักศึกษาพัฒนาตนเอง ต่อยอดทางความคิด มองโลกได้อย่างชาญฉลาดและเท่าทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงบนฐานความรู้ทางวิชาการและทักษะความเป็นสากล

การพัฒนานักศึกษาให้มีทักษะความเป็นสากลนั้น เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ตระหนักและให้ความสำคัญว่าเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญเร่งด่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีข้อกำหนดด้านเวลาของ AEC เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยส่วนวิเทศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีปรัชญาและปณิธานในการร่วมพัฒนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการในด้านความร่วมมือ การวิจัย และการแลกเปลี่ยนบุคลากร/นักศึกษากับต่างประเทศ เพื่อผลิตบัณฑิตให้เป็นคนทันสมัยในฐานะพลโลก จึงได้จัดทำโครงการและกิจกรรมในหลากหลายรูปแบบเพื่อพัฒนานักศึกษาให้มีความพร้อมในการประกอบอาชีพและรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 2 ปี ข้างหน้า

กิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักศึกษาได้เรียนรู้และมีประสบการณ์เกี่ยวกับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยส่วนวิเทศสัมพันธ์ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย เช่น ร่วมกับสาขารัฐศาสตร์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ จัดโครงการค่ายรัฐศาสตร์ A Journey of Discovery Camp ณ Universiti Putra Malaysia ประเทศมาเลเซีย โครงการ International Leadership and Soft Skill Enhancement Camp ณ Universiti Malaysia Perlis โครงการ Thailand-Indonesia-Malaysia International Debate Training and Competition โครงการ Asia Summer Program ณ Dongseo University, Busan ประเทศเกาหลีใต้ นอกจากนี้ ยังได้จัดโครงการพัฒนาสมรรถนะสากลนักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยเดินทางไปศึกษาดูงานด้านการศึกษาและสถานที่สำคัญในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ เพื่อเปิดโลกทัศน์ เพิ่มประสบการณ์และเรียนรู้วิถีชีวิตของประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นสมาชิกอาเซียน รวมทั้งการพัฒนาทักษะด้านภาษาและวัฒนธรรมอีกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัญชลี ชยานุวัชร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ Asia Summer Program ณ Dongseo University, Busan ประเทศเกาหลีใต้ เป็นเวลา 3 สัปดาห์ ว่า นางสาวสุพิชชา นาสูงชน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิชาเอกภาษาอังกฤษ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ และนางสาวกัญญารัตน์ แก้วประสม นักศึกษาชั้นปีที่ 2 วิชาเอกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สำนักวิชาการจัดการ ได้ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการของส่วนวิเทศสัมพันธ์ให้เข้าร่วมโครงการ โดยนักศึกษาทั้งสองคนจะต้องสอบข้อเขียนเพื่อวัดความสามารถด้านภาษาอังกฤษ สอบสัมภาษณ์ แบบเดี่ยว และสอบสัมภาษณ์แบบคู่ การแนะนำตนเองโดยนำเสนอแบบวิดีโอคลิป (Video Clip) และแบบปากเปล่า กล่าวได้ว่าเป็นการสอบชิงทุนที่ค่อนข้างเข้มข้น และเมื่อได้รับการคัดเลือกแล้วยังต้องไปพัฒนาตนเองโดยการเข้าชั้นเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติม เนื่องจากโครงการ Asia Summer Program เน้นการเรียนในรายวิชาที่ต้องฟังบรรยายเป็นภาษาอังกฤษจากผู้สอนที่มาจากนานาประเทศ และจะมีการวัดระดับการเรียนรู้เป็นเกรดหลังจากเรียนจบในรายวิชาที่นักศึกษาเลือกซึ่งจะต้องเรียนคนละ 2 รายวิชา

ประสบการณ์ของสุพิชชาและกัญญารัตน์ เริ่มตั้งแต่การเดินทางไป Busan ประเทศเกาหลีใต้ ด้วยตนเอง โดยเริ่มจากการนั่งรถบัสราคาประหยัดจากหาดใหญ่สู่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อต่อเครื่องบิน ต้องพักค้างคืนที่สนามบิน โดนแทกซี่หลอกและโก่งราคาที่กรุงโซลในขณะเดินทางเพื่อต่อเครื่องไปยังเมือง Busan ซึ่งเป็นปลายทางที่ตั้งของ Dongseo University สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ทั้งสุพิชชาและกัญญารัตน์ ได้เรียนรู้และได้รับประสบการณ์ตรงจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

สุพิชชา นาสูงชน เลือกเรียนวิชา Technical Communication สอนโดยอาจารย์จาก Universiti Malaysia Perlis ประเทศมาเลเซีย และ Tourism in Mongolia สอนโดยอาจารย์จาก Ohkhon University ประเทศมองโกเลีย ได้เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า “เนื่องจากตัวเองเรียนวิชาภาษาอังกฤษเป็นวิชาเอก จึงคิดว่าความสามารถด้านภาษาต้องไม่เป็นรองใครแน่ๆ การสมัครเข้าร่วมโครงการครั้งนี้น่าจะไม่ไกลเกินเอื้อม แต่ไม่ได้เป็นอย่างที่คิดในตอนแรก เพราะนอกจากสอบข้อเขียน ทำวิดีโอคลิปแนะนำตัวเองมาเปิดให้คณะกรรมการดูในวันสัมภาษณ์ ยังต้องสอบสัมภาษณ์เพื่อดูว่า ผู้สมัครสามารถช่วยเหลือตัวเอง เข้ากับผู้อื่น และปรับตัวกับสิ่งแวดล้อม และผู้คนจากชาติอื่นๆ อีกประมาณ 400 คน ได้หรือไม่”

สุพิชชา จึงมีบทสรุปหลังจากที่เข้าร่วมโครงการเสร็จแล้วว่า “ภาษามีความสำคัญในยุคปัจจุบันมาก เราต้องเรียนรู้ภาษาที่สองหรือที่สาม เพื่อให้สามารถสื่อสารและทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ได้อย่างมีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ภาษาเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ เพราะการทำงานเป็นการเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่น ผู้ร่วมงาน เจ้านาย หรือผู้ใต้บังคับในอนาคต เราต้องมีทักษะความเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี สามารถบริหารจัดการเวลา แก้ไขปัญหา มีความคิดเชิงวิเคราะห์ รอบรู้ในเรื่องต่างๆ หรือทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่นได้ สิ่งเหล่านี้ต้องได้รับการหล่อหลอมตั้งแต่เยาว์วัย รอให้สำเร็จการศึกษาก่อนช้าไปแน่ๆ จึงได้เข้าใจว่า ทำไมส่วนวิเทศสัมพันธ์จึงต้องมีขั้นตอนและกระบวนการในการคัดเลือกนักศึกษาเข้าร่วมโครงการ เพราะหากมีพื้นฐานความรู้ภาษาอังกฤษน้อย จะเรียนไม่รู้เรื่อง มีความทุกข์ในการเรียน และหากไม่สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ได้ก็จะไม่มีความสุข”

กัญญารัตน์ แก้วประสม เลือกเรียนรายวิชา Tourism Culture and Hospitality สอนโดยอาจารย์จาก Josai International University ประเทศญี่ปุ่น และ From Rags to Riches: the Ethnic Chinese in Southeast Asia สอนโดยอาจารย์จาก Petra Christian University ประเทศอินโดนีเซีย เธอเล่าว่า ภาษาอังกฤษของเธอไม่ค่อยแข็งแรงเลย พูดกับเพื่อนๆ พอสื่อสารกันรู้เรื่อง แต่ฟัง lecture นี่สิ ยากมากเลย อาจารย์พูดเร็ว บางครั้งก็เข้าใจ แต่ที่ไม่เข้าใจน่าจะมีมากกว่า แต่เธอก็สู้ คอยถามเพื่อนและตรวจสอบกับเพื่อนว่า ที่เราเข้าใจนั้นถูกต้องรึเปล่า หลังจากหนึ่งสัปดาห์ผ่านไป เธอฟังได้และเข้าใจมากขึ้น สามารถโต้ตอบกับอาจารย์ได้ ตอนนั้นรู้สึกดีใจมาก มีความสุข นอกจากเรียนแล้วยังได้ทำกิจกรรมอื่นๆ อีกด้วย

“การเข้าร่วมโครงการ Asia Summer Program ในครั้งนี้ จึงคุ้มค่ามาก ได้พัฒนาภาษา พัฒนาทักษะทางสังคม พัฒนาตนให้มีคุณลักษณะที่สังคมยุคดิจิตัลต้องการ จึงอยากเชิญชวนให้น้องๆ สมัครเข้าร่วมโครงการนี้บ้าง หรือโครงการอื่นๆ ที่เห็นว่ามีประโยชน์ในการพัฒนาสู่สากล” กัญญารัตน์ กล่าวในตอนท้าย


สุพิชชา และ กัญญารัตน์ รู้ซึ้งถึงคุณค่าของประสบการณ์ที่เธอได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ Asia Summer Program ณ ประเทศเกาหลีใต้ จึงได้นำเรื่องราวและประสบการณ์ต่างๆ มาถ่ายทอดให้นักศึกษาได้รับฟัง เพื่อเป็นข้อมูลและข้อคิดสำหรับการพัฒนาตนเอง พร้อมทั้งขอให้ทุกคนแสวงหาโอกาส หรือเปิดรับโอกาสที่มีเข้ามาในชีวิต พร้อมกันนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัญชลี ชยานุวัชร ได้กล่าวในตอนท้ายว่า ทั้งสุพิชชา และ กัญญารัตน์ เป็นตัวอย่างของนักศึกษาที่สามารถพัฒนาตนเอง มีความมั่นใจในการสื่อสาร มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งสามารถนำมาขยายผลให้นักศึกษากลุ่มอื่นที่ยังไม่มีโอกาสในการไปต่างประเทศได้พัฒนาตัวเอง






ส่วนหนึ่งของผลงานนักศึกษาที่ส่วนวิเทศฯ มอบหมายให้ทำขณะเข้าร่วมโครงการที่ประเทศเกาหลี

สมพร อิสรไกรศีล เรียบเรียง
จิราพร กาฬสุวรรณ ข้อมูลและภาพ