Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

วัณณสาส์น นุ่นสุข หนุน “พระบรมธาตุเจดีย์” ขึ้นมรดกโลก

อัพเดท : 16/09/2556

2805

     

วัณณสาส์น นุ่นสุข อาจารย์สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ บอกความตั้งใจและเล่าให้ฟังว่า ผมรู้สึกเป็นเกียรติและดีใจมาก กระทรวงวัฒนธรรม มอบหน้าที่ให้เป็นวิทยากร นำคณะทูตานุทูตต่างประเทศ และข้าราชการระดับสูง เกือบ 100 ชีวิต ชมและศึกษาพระบรมธาตุเจดีย์ภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเบื้องต้นเป็นมรดกโลก (Tentative List) เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ตอนแรกคิดว่าคณะทูตานุทูต จะชมความงดงามของพระบรมธาตุเจดีย์ ที่ไหนได้เขาให้ความสนใจด้านประวัติศาสตร์มาก โดยเฉพาะรากเหง้าความเป็นมาพระบรมธาตุเจดีย์ ตลอดจนวิถิชีวิตคนในชุมชนโดยรอบตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน “ผมอธิบายประวัติศาสตร์ความเป็นมา เกิดจากกษัตริย์และประชาชน รวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันสร้างขึ้นมา เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจของคนภาคใต้ และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยซึ่งเชื่อมโยงกับสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ขณะเดียวกันผมอธิบายได้ทุกคำถาม ว่าเชื่อมโยงเศรษฐกิจ การเมือง อย่างไร”

อธิบายได้ทุกอย่าง วัณณสาส์น บอกว่า ผมเกิดที่ จ.นครศรีธรรมราช คลุกคลีอยู่กับแหล่งโบราณคดีต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่เด็ก เพราะ รศ.ดร.ปรีชา นุ่นสุข คุณพ่อของผมเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี พ่อพาผมท่องเที่ยวไปยังแหล่งโบราณคดีที่ท่านค้นคว้าวิจัย ทำให้ผมซึมซับและให้ความสนใจกับการศึกษาโบราณคดีของภาคใต้โดยไม่รู้ตัวตั้งแต่เด็ก ชนิดที่พูดได้ว่าทุกอย่างอยู่ในหัวผม

“ผมคลุกคลีด้านประวัติศาสตร์ตั้งแต่เด็กเพราะคุณพ่อพาลงพื้นที่ พอโตขึ้นผมจึงเลือกเรียนคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล แผนกอักษรศาสตร์ ไปศึกษาต่อทางด้านมานุษยวิทยาและโบราณคดีในระดับปริญญาโท ที่ University of Hawaii และปริญญาเอกที่ Cornell University สหรัฐอเมริกา มีชื่อเสียงทางด้าน Southeast Asian Studies โดยมี Professor Stanley J. O’Connor ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในภาคใต้ของไทย เป็นที่ปรึกษา”

พอปี 52 ในช่วงที่กลับมาทำงานภาคสนามในนครศรีธรรมราช พบว่ามีการศึกษาค้นคว้าทางด้านนี้มีน้อยมาก และยังไม่มีใครทำ แต่ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีมากมายในคาบสมุทรสยาม หมายถึงภาคใต้ของไทยที่มีลักษณะเฉพาะ เพราะเป็นประตูสู่มหาสมุทรทั้งสองด้าน ถือเป็นเส้นทางออกสู่สังคมภายนอก ทำให้เป็นศูนย์กลางทางการค้าขายและการเดินทางของกลุ่มคนต่างๆ รวมทั้งพระสงฆ์และพราหมณ์ ดินแดนแห่งนี้จึงมีการผสมผสานทางด้านสังคมและวัฒนธรรม ร่องรอยมรดกวัฒนธรรมในอดีตจึงมีให้เห็นอยู่มากมาย ที่สำคัญภาคใต้มีรัฐโบราณที่ชื่อ “ตามพรลิงค์” เป็นรัฐที่มีความโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่ง ได้รับการอ้างอิงในเอกสารของจีน อินเดียและลังกา ว่า เป็นรัฐที่รุ่งเรืองทางด้านการค้ามาก แต่ที่อ้างถึงเป็นช่วงพุทธศตวรรษที่ 18
วัณณสาส์น ยังบอกว่าได้ทำโครงการโบราณคดีคาบสมุทรสยาม ตั้งพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัย (University Museum) โดยรวบรวมโบราณวัตถุที่ได้มาจากการทำงานภาคสนามของโครงการ หนังสือ และจัดทำฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีภาคใต้ หวังให้อนุชนรุ่นหลังได้ใช้เป็นแหล่งค้นข้อมูลประวัติศาสตร์ภาคใต้ ซึ่งโครงการนี้จะเป็นรูปเป็นร่างสมบูรณ์แบบคงใช้เวลาอีกหลายปี

จากการสั่งสมภูมิความรู้ด้านประวัติศาสตร์ตั้งแต่เยาว์วัยจนถึงทุกวันนี้ ประกอบกับใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องทั้งพูดและเขียน ของ วัณณสาส์น เขาถูกทาบทามให้เป็นหนึ่งในคณะทำงานจัดทำข้อมูลพระบรมธาตุเจดีย์ เสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลก และยังร่วมทำงานต่างๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ด้วย



ข่าวจาก ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 9 กันยายน 2556
รายละเอียดเพิ่มเติม : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000113002