Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

บัณฑิต ม.วลัยลักษณ์ มีงานทำและศึกษาต่อสูงถึงร้อยละ 86.6

อัพเดท : 26/06/2557

4079

ศาสตราจารย์ ดร.วินัย ประลมพ์กาญจน์ รองอธิการบดีฝ่ายแผนงานและทรัพย์สิน เปิดเผยถึงผลการสำรวจภาวะการทำงานของบัณฑิตมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2555 พบว่า บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในระยะเวลา 1 ปีหลังสำเร็จการศึกษา มีงานทำและศึกษาต่อรวมสูงถึงร้อยละ 86.6 ในจำนวนนี้ ผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ มีงานทำและศึกษาต่อสูงถึงร้อยละ 91.1 ในขณะที่ด้านสังคมศาสตร์ และด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คิดเป็นร้อยละ 88.2 และ 79.7 ตามลำดับ

รองอธิการบดีฝ่ายแผนงานและทรัพย์สิน กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เปิดสอนใน 11 สำนักวิชา ประกอบด้วย สำนักวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ คือ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ สหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ สารสนเทศศาสตร์ เทคโนโลยีการเกษตร วิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร สถาปัตยกรรมและการออกแบบ ด้านสังคมศาสตร์ คือ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ และสำนักวิชาการจัดการ มีจำนวนนักศึกษารวมประมาณ 7,000 คน โดยมีบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา ในปีการศึกษา 2555 ระดับปริญญาตรีจำนวน 1,230 คน ปริญญาโท 72 คน และระดับปริญญาเอก 3 คน ทั้งนี้ ไม่รวมสำนักวิชาแพทยศาสตร์ ซึ่งจะมีบัณฑิตรุ่นแรกที่สำเร็จการศึกษา ปีการศึกษา 2556 โดยจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในวันที่ 1 สิงหาคม 2557 นี้

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจภาวะการมีงานทำของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ปีการศึกษา 2555 พบว่า บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ประมาณ 3 เดือน มีงานทำและศึกษาต่อสูงถึงร้อยละ 80.8 ขณะที่ภาพรวมของบัณฑิตทั้งประเทศจากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา พบว่า ภายใน 3 เดือนมีงานทำและศึกษาต่อ เฉลี่ยเพียงร้อยละ 33.16 และภายใน 1 ปี เฉลี่ยร้อยละ 79.54 โดยบัณฑิตของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว 1 ปี พบว่า มีงานทำและศึกษาต่อรวมสูงถึงร้อยละ 86.6 ได้ทำงานตรงตามสาขาวิชาที่จบมาร้อยละ 93.5 โดยได้งานทำตรงตามสาขาวิชาที่จบด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสังคมศาสตร์ คิดเป็นร้อยละ 97.7, 92.0 และ 90.7 ตามลำดับ หากพิจารณาจากสาขาวิชาที่สำเร็จการศึกษาที่มีภาวะการทำงานสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ พยาบาลศาสตร์ บริหารธุรกิจ และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คิดเป็นร้อยละ 100 เภสัชศาสตร์ ร้อยละ 98.6 และเทคนิคการแพทย์ ร้อยละ 98.4 อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมบัณฑิตได้รับค่าตอบแทนจากการจ้างงานต่ำกว่ามาตรฐานเพียงร้อยละ 5.2 เท่านั้น ทั้งนี้ ในส่วนของความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิตอยู่ระหว่างการสำรวจ

ศาสตราจารย์ ดร.วินัย ประลมพ์กาญจน์ ได้พูดถึงความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิตต่อบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2554 ใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านคุณธรรมจริยธรรม ด้านความรู้ ด้านทักษะทางปัญญา ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ ด้านทักษะวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ พบว่า ความพึงพอใจด้านคุณธรรมจริยธรรม สูงที่สุดคือ 4.44 และอีก 4 ด้าน มีค่าระหว่าง 4.05-4.25 โดยภาพรวมมีความพึงพอใจเฉลี่ย 4.21 (จาก 5.00) หากดูความพึงพอใจสูงสุดต่อผู้ที่จบการศึกษาระดับสำนักวิชา 3 ลำดับแรก พบว่า ความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิตต่อบัณฑิตสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ อยู่ที่ 4.48 สำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ อยู่ที่ 4.24 และสำนักวิชาการจัดการ อยู่ที่ 4.24 นอกจากนี้ ยังพบว่าความพึงพอใจของสถานประกอบการต่อบัณฑิตที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกและปริญญาโท เท่ากับ 4.35 และ 4.29 ตามลำดับ

“จากสถิติสภาวะการมีงานทำของบัณฑิตมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของบัณฑิตทั่วประเทศจากการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จึงมั่นใจได้ว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพไม่ยิ่งหย่อนกว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำระดับประเทศ และสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของบัณฑิตวลัยลักษณ์ ที่ว่า มีความรู้คู่การปฏิบัติ อุตสาหะสู้งาน เก่งด้านศิลปศาสตร์และเทคโนโลยี มีคุณธรรม” รองอธิการบดีฝ่ายแผนงานและทรัพย์สิน กล่าวในตอนท้าย