Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

มวล. รุกพัฒนาห้องเรียนอัจฉริยะ เตรียมพร้อมก้าวสู่ Smart University

อัพเดท : 22/09/2560

3385

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มุ่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ว่าด้วย การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนสมัยใหม่ เตรียมก้าวสู่การเป็น Smart University เน้นคุณภาพห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ ห้องสมุด และภูมิทัศน์ ต้องดีและทันสมัย



ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำทีมผู้บริหารและพนักงาน เดินทางไปเยี่ยมชมห้องเรียนอัจฉริยะ (Smart Classroom) ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อศึกษากระบวนการ รูปแบบ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดห้องเรียนอัจฉริยะ และนวัตกรรมการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับห้องเรียนอัฉริยะ

ช่วงเช้าของวันที่ 20 กันยายน 2560 คณะจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดยรักษาการแทนอธิการบดี ได้เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบห้องเรียนอัจฉริยะ หรือ Smart Classroom ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ วรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ชรินพาณิชกุล รองคณบดีฝ่ายวิชาการ พร้อมด้วยพนักงาน ให้การต้อนรับ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำเยี่ยมชมห้องเรียนต่างๆ รวมทั้งห้องสมุดของคณะ ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นแถวหน้าของการจัดห้องเรียนแบบ Smart Classroom ที่มุ่งพัฒนาห้องเรียนให้สอดรับกับระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ รวมถึงสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและระบบการศึกษา โดยได้จัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ และสร้างห้องเรียนแบบ Smart Classroom ที่เรียกว่า i-SCALE ซึ่งเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันและต่อยอดการเรียนรู้ที่ครบวงจร



ช่วงบ่ายของวันเดียวกันคณะได้เดินทางไปยัง วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อเยี่ยมชมห้องเรียน Smart Classroom และศึกษาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอน โดยได้รับการอนุเคราะห์ข้อมูลอย่างดีจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพ.ไพรัตน์ ฐาปนาเดโชพล รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีระชัย ทิตภากร อาจารย์ประจำวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ และคุณสุพัตรา เอี๋ยวสกุล หัวหน้างานส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา โดยได้นำชมห้องเรียนทั้งที่เป็น Small group study และห้องเรียนแบบ Team base learning พร้อมทั้งสาธิตการใช้งานเทคโนโลยีการเรียนการสอน ซึ่งเป็นประโยชน์ยิ่งในการพัฒนาห้องเรียนต้นแบบ Smart Classroom ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

และในวันที่ 21 กันยายน 2560 คณะจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมการจัดห้องเรียนแบบ Smart Classroom ของมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อศึกษาแนวทาง กระบวนการ และเทคโนโลยี ต่อยอดการเยี่ยมชมดูงานของสถานศึกษาสองแห่งก่อนหน้า และนำผลการศึกษาเยี่ยมชมไปเป็นแนวทางดำเนินงานในการพัฒนาห้องเรียนอัจฉริยะของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จะพัฒนาห้องเรียนอัจฉริยะ (Smart Classroom) ที่ตอบสนองต่อการเรียนการสอนแบบ Active Learning โดยมีศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล และศูนย์นวัตกรรมการเรียนและการสอน ในฐานะหน่วยงานสบับสนุนการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย เป็นแกนหลักในการดำเนินการ ด้วยมุ่งหวังว่า การจัดห้องเรียนที่มีคุณภาพให้สามารถตอบสนองต่อการเรียนการสอนแบบ Active Learning โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประยุกต์ใช้ห้องเรียนอัจฉริยะที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย เท่ากับเป็นการพัฒนาการเรียนการสอน พัฒนาคุณภาพนักศึกษา และเป็นการพัฒนาองค์กรทั้งระบบในระยะยาว อันจะขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ไปสู่การเป็น Smart University ได้ในอนาคต

ประมวลภาพ

ภาพและข่าวโดย: หน่วยประสานงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กรุงเทพมหานคร