Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปีการศึกษา 2559

อัพเดท : 06/10/2560

7316




เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2560 เวลา 17.29 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ไปยังหอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปีการศึกษา 2559 โดยมีนายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษาและประชาชนทั่วไป เฝ้ารับเสด็จ

โอกาสนี้ พระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 คน ได้แก่ Emeritus Professor Lance C. Fung สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช สาขาไทยศึกษาบูรณาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พญ. มยุรี วศินานุกร สาขาแพทยศาสตร์ และ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา สาขาการวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และมีผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาวลัยลักษณ์ในระดับปริญญาเอก ปริญญาโท และปริญญาตรี เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร รวมจำนวน 1,508 คน
พร้อมกันนี้ ได้พระราชทานเหรียญรางวัลผลการศึกษาแก่ผู้รับปริญญาเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และได้คะแนนเฉลี่ยสะสมสูงสุดในหลักสูตร นั้นๆ จำนวน 15 คน และโล่แก่ผู้ที่ได้รับรางวัลศึกษิตแห่งปีที่วลัยลักษณ์ ซึ่งเป็นผู้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนนักศึกษา 5 คน รวมถึงโล่ประกาศเกียรติคุณแก่อาจารย์ดีเด่นด้านงานวิจัยและด้านการเป็นครู 2 คน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร มาแทน สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร อาจารย์ดีเด่นด้านการวิจัย และอาจารย์ ดร.รุ่งรวี จิตภักดี สำนักวิชาการจัดการ อาจารย์ดีเด่นด้านการเป็นครู

ในการนี้ มีพระโอวาทเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติตนแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ความว่า "การที่บัณฑิตจะสร้างความสำเร็จและความก้าวหน้ามั่นคงในกิจการงานอย่างแท้จริงและยั่งยืนได้นั้น นอกจากจะต้องอาศัยความรู้ที่ถูกต้องและแม่นยำชำนาญ ทั้งความรู้ในด้านลึก คือความรู้ในสาขาวิชาเฉพาะที่บัณฑิตเล่าเรียนมา และความรู้ในด้านกว้าง คือความรู้ในสาขาวิชาอื่นๆ รวมทั้งความรู้รอบตัวเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางวิชาการและข่าวสารข้อมูลต่างๆ แล้ว บัณฑิตยังต้องมีคุณธรรมความสุจริต เป็นเครื่องประกอบส่งเสริมอีกประการหนึ่งด้วย คุณธรรมความสุจริตนี้เป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินชีวิตและประกอบกิจการงานทุกอย่าง เพราะเป็นเครื่องมือป้องกันบุคคลให้ห่างไกลจากความชั่วและความเสื่อมเสียหายทั้งปวง ทำให้แต่ละคนได้มีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถในทางที่ดีที่เจริญอย่างเต็มที่ บัณฑิตเป็นผู้มีความรู้ความสามารถสมบูรณ์พร้อมอยู่แล้ว จึงควรจะได้ฝึกฝนตนเองให้มีจิตใจตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรมความสุจริต"

ประมวลภาพ

ภาพโดย นางสาวนันทพร ขันธศุภหิรัญ