Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ ทำบุญทางศาสนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี 29 มีนาคม 2555

อัพเดท : 05/04/2555

3261


ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วย ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดี คณะผู้บริหาร บุคลากร นักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และแขกผู้มีเกียรติร่วมทำบุญทางศาสนาเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย ครบปีที่ 20 (29 มีนาคม 2555)

 

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ในฐานะอธิการบดีผู้ก่อตั้งและนายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานในพิธีทำบุญทางศาสนาเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย ครบปีที่ 20 โดยมี ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คณะกรรมการรณรงค์ให้มีมหาวิทยาลัยที่ จ.นครศรีธรรมราช กรรมการสภามหาวิทยาลัยฯ ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติในจังหวัดนครศรีธรรมราชและประชาชนรายรอบมหาวิทยาลัย ร่วมพิธีดังกล่าว ณ อาคารวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
 

กิจกรรมในโอกาสดังกล่าว เริ่มจากการขับร้องเพลงประสานเสียงวง WU Chorus ของนักศึกษาสำนักวิชาศิลปศาสตร์ พิธีทางศาสนาทั้ง 4 ศาสนา คือ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ พราหมณ์ และศาสนาพุทธ ตามลำดับ โดยในส่วนของศาสนาพุทธได้รับเกียรติจาก พระเทพวินยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารและพระสงฆ์ จำนวน 9 รูป ร่วมสวดเจริญพระพุทธมนต์ จากนั้นประธานในพิธีและผู้เข้าร่วมงานร่วมกันตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง เพื่อความเป็นสิริมงคล
 

โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน กล่าวเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย ถึงความเป็นมาในฐานะอธิการบดีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ความว่า ถ้าจะมองมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ต้องมองใน 3 ฐานะ คือ เป็นมหาวิทยาลัยในกระดาษ (มหาวิทยาลัยในความคิด) โดยเริ่มจากการเรียกร้องของชาวนครศรีธรรมราชกว่า 20 ปี ซึ่งในปี 2534 ในฐานะปลัดทบวงมหาวิทยาลัยซึ่งรัฐบาลในสมัยนั้นมีนโยบายในการกระจายอำนาจให้มีมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอยู่แล้ว จึงทำให้สามารถจัดทำแผนแม่บทมหาวิทยาลัยในกำกับได้สำเร็จภายในเวลาอันสั้น จากนั้นได้นำไปสู่มหาวิทยาลัยในการกระทำ ซึ่งเป็นความภูมิใจที่สุดของผม ในฐานะอธิการบดีผู้ก่อตั้งอย่างต่อเนื่องถึง 8 ปี โดยเริ่มจาการหาทีมงานที่มีความสามารถและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับมาทำงานร่วมกัน การจัดหาสถานที่ตั้งมหาวิทยาลัยจากหลายๆ ที่และตัดสินใจเลือกพื้นที่อำเภอท่าศาลา เนื่องจากมีพื้นที่มากพอสำหรับการขยายตัวในอนาคต และการจัดทำผังแม่บทการใช้พื้นที่ ซึ่งนำไปสู่การเป็นเมืองมหาวิทยาลัยที่มีการจัดสร้างทุกอย่างภายในคราวเดียวเพื่อรองรับการใช้งาน 10 ปี ประกอบด้วยอาคารเรียน ที่พักนักศึกษาและบุคลากร สิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ไปรษณีย์ ธนาคาร ฯลฯ และสาธารณูปโภคที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์
 

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ได้ให้แง่คิดและมุมมองเพื่อให้ชาวมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ตระหนักว่า “การก่อตั้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อต้องการตั้งสถาบันทางสังคมที่ถาวร (Permanent social institution) ไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการทางการเมือง หรือล้มลุกคลุกคลานและยุบไป ดังนั้น ถ้าจะทำให้เป็นสถาบันที่ถาวรต้องอยู่อย่างเป็นประโยชน์ ถ้าอยู่อย่างอนุสรณ์สถานคงไม่ใช่วลัยลักษณ์ เราต้องทำภารกิจได้ ตอบสนองความต้องการของสังคมประเทศชาติ และไปสู่สากลได้ ขอฝากไว้ว่า อดีตเป็นฐานคิดของปัจจุบัน และดูปัจจุบันเพื่อเป็นฐานของการนำไปสู่อนาคต ขอฝากอนาคตมหาวิทยาลัยแห่งนี้ไว้กับทุกท่านอย่างที่ท่านเคยได้อุ้มชูมาแล้ว”

 

ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้กล่าวถึงสิ่งที่จะต้องดำเนินการให้เข้มแข็งอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นรากฐานเริ่มต้นหรือเป็นมรดกของมหาวิทยาลัยใน 6 ด้าน คือ ความเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ความเป็นเมืองมหาวิทยาลัย ความเป็นอุทยานการศึกษา สหกิจศึกษา การบริหารในรูปแบบ "รวมบริการ ประสานภารกิจ" และการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ 9000 ไร่ อย่างคุ้มค่า คุ้มประโยชน์
 

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงพัฒนาการของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ว่า หากนับจากปีมหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกเมื่อปีการศึกษา 2541 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีแรกที่มีนักศึกษาประมาณ 700 คน ใน 16 หลักสูตร ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยได้เปิดรับนักศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี 34 หลักสูตร ปริญญาโท 19 หลักสูตร และหลักสูตรปริญญาเอก 10 หลักสูตร ครอบคลุมทั้งด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ด้วยจำนวนนักศึกษากว่า 7500 คน ที่สำคัญนับจากนี้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มุ่งเป้าสู่การเป็น “อุทยานการศึกษาแห่งอาเซียน” ภายในปี 2563 โดยในระยะเวลา 4 ปี นับจากนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มุ่งมั่นในการเป็น “อุทยานการศึกษาแห่งการสร้างโอกาส” ด้วยนโยบาย 4 สร้างเสริม คือ สร้างเสริมสังคมสุขภาพ สร้างเสริมความสามารถสากล สร้างเสริมสังคมเข้มแข็ง และสร้างเสริมแหล่งพัฒนาความรู้
 

การดำเนินการเพื่อไปสู่ “อุทยานการศึกษาแห่งการสร้างโอกาส” ประกอบด้วย การขยายโอกาสและสร้างความพร้อมให้นักศึกษาเพราะคุณวุฒิเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับบุคลากรในศตวรรษที่ 21 คนรุ่นใหม่ต้องมีทักษะชีวิตและทักษะทางสังคม การสร้างความเป็นเลิศด้านสหกิจศึกษา รวมถึงการเรียนการสอนแบบ Active Learning คือ ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ การยกระดับมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นนานาชาติ พัฒนาให้วลัยลักษณ์เป็นเมืองมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ พัฒนาอุทยานการศึกษาเฉลิมพระเกียรติ จัดการเรียนการสอนแบบสหสาขาวิชาชีพที่นักศึกษาในแต่ละสาขาอาชีพเรียนรู้และทำกิจกรรมร่วมกันทั้งในและนอกห้องเรียน โดยเฉพาะสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ ส่งเสริมการเรียนรู้และอาชีพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง และพัฒนาองค์ความรู้เรื่องอาณาจักรตามพรลิงค์ เพื่อเชิดชูคุณค่าของศิลปะและวัฒนธรรมของจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้งเพิ่มพูนความรู้ให้กับอาจารย์และบุคลากร ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยยังคงให้ความสำคัญกับงานวิจัย บริการวิชาการและศิลปวัฒนธรรมซึ่งเป็นภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยด้วยเช่นเดียวกัน
 

อธิการบดีได้ฝากข้อคิดให้กับชาววลัยลักษณ์เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่ความสำเร็จใน 3 เรื่อง คือ ขอให้รักและเชื่อมั่นในองค์กร (ความเป็นวลัยลักษณ์) ขอให้ขยันและมุ่งผลสำเร็จของงาน รวมทั้งขอให้คิดบวกเสมอ
 

หลังจากนั้นศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ให้เกียรติมอบโล่และเข็มที่ระลึกแก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่ปฏิบัติงานและสร้างคุณประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยตั้งแต่ 10 -15 ปีขึ้นไป พร้อมทั้งกล่าวแสดงความยินดีและชื่นชมบุคลากรที่ได้ร่วมกันพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้เจริญก้าวหน้ามาถึงวันนี้ ทั้งขอให้นำความรู้ถ่ายทอดไปสู่พนักงานรุ่นใหม่ เพื่อใช้ความรู้เหล่านั้นผลักดันให้งานก้าวหน้าและองค์กรมีความเจริญเติบโตอย่างมั่นคงต่อไป