Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ผศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาการจัดการ นำเสนอและร่วมส่งมอบสมุดปกขาว BCG Economy ต่อนายกรัฐมนตรี

อัพเดท : 09/11/2561

1228



ผศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ ประธานหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตสาขาการจัดการ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำหลักสูตรการตลาดดิจิทัลและการสร้างแบรนด์ สำนักวิชาการจัดการ นำเสนอและร่วมส่งมอบสมุดปกขาว BCG Economy ต่อนายกรัฐมนตรีในงานนายกรัฐมนตรีพบประชาคมวิจัยด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว Bio-Circular-Green (BCG) Economy เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา โดย ผศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ นำเสนอด้านการท่องเที่ยว ร่วมกับนักวิจัยระดับประเทศอีก 5 ท่าน

ในงานดังกล่าวมีประชาคมวิจัยทั้งภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศมากกว่า 500 คน เดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมนำเสนอและมอบสมุดปกขาว “การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศไทย ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ BCG in Action (Bio-Circular-Green (BCG) Economy)” โดยมีเป้าหมายที่ว่า การลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ BCG Model จะช่วยลดการใช้ทรัพยากรลงได้ไม่น้อยกว่า 30% และยังส่งผลกระทบต่อการลดก๊าซเรือนกระจก การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของพืชสมุนไพรไทย และตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติด้วย

โดยในส่วนของการท่องเที่ยว ผศ.ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าวว่า “การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกัน มูลค่าทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวที่เราได้มาถึง 3 ล้านล้านบาท ก็ต้องแลกมาด้วยสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรทางธรรมชาติ และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป

วันนี้ เราต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดและกระบวนการอย่างจริงจัง การเติบโตทางเศรษฐกิจต้องควบคู่ไปกับความมั่นคงของฐานรากของประเทศนั่นคือ สังคมเข้มแข็ง และมีความยั่งยืนของทรัพยากร การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไม่ได้หมายความถึงการห้ามใช้ทรัพยากร แต่เป็นการใช้อย่างชาญฉลาดเพื่อสร้างความหมุนเวียนและสมดุลต่อสังคม สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยเหตุนี้ ชุมชนท้องถิ่นต้องสามารถเข้าถึงโอกาสจากการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือวิถีชีวิตของตนเอง อันนำไปสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืนในระยะยาว

การขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวจึงเกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยวคุณค่าสูงด้วยการสร้างแบรนด์แหล่งท่องเที่ยวเมืองรองให้มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น โดยมีการประยุกต์เทคโนโลยีเสมือนจริง และการสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่แตกต่าง รวมถึงการเชื่อมโยงพืชสมุนไพรสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์สปาที่มีมูลค่าสูงโดย SMEs ระดับประเทศ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างมีเอกลักษณ์ที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI ที่สามารถสร้างความมั่งคั่งจากภูมิปัญญา ทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิต ด้วยเหตุนี้จึงต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลของสิ่งแวดล้อมด้วยการวิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการที่ลดผลกระทบจากการท่องเที่ยว

ผลกระทบที่สำคัญคือการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวเป็น 4 ล้านล้านบาท ใน 5 ปีข้างหน้า รวมถึงการสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับชุมชนท้องถิ่นมากกว่า 50,000 ชุมชน เนื่องจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองสามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวได้เฉลี่ยมากกว่า 10 ล้านคนต่อปี และมีการกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานรากเฉลี่ยมากกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี

ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านระบบ Logistics เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างเมืองหลักและเมืองรอง รวมถึงการจัดตั้ง Virtual Tourism Academy ที่สามารถเชื่อมโยงสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อรองรับการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสทั้งการศึกษา และการทำงาน และเป็นการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในระยะยาว

นอกจากนี้ ควรมีการยกเว้นวีซ่านักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม อาทิ กลุ่มยุโรปตะวันออก อาทิ โรมาเนีย ลิธัวเนีย แลตเวีย และบัลแกเรีย เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณวิจัยด้านการพัฒนาฐานข้อมูลสารสนเทศด้านการท่องเที่ยว และด้าน Informatics ในการติดตั้งระบบเตือนภัย ติดตามและเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมที่สามารถประมวลผลเพื่อการตัดสินใจที่แม่นยำ รวมถึงการพัฒนาระบบความปลอดภัยสาธารณะเพื่อนักท่องเที่ยวแบบครบวงจร”

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ ยังได้กล่าวถึงการพัฒนาหลักสูตรการตลาดดิจิทัลและการสร้างแบรนด์ว่า “ดังเห็นได้จากแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแทบจะทุกด้านของระบบเศรษฐกิจไทย วันนี้ คณาจารย๋หลักสูตรบริหารธุรกิจ สำนักวิชาการจัดการ จึงได้พัฒนาหลักสูตรการตลาดดิจิทัลและการสร้างแบรนด์เพื่อเตรียมความพร้อมและติดอาวุธทางปัญญาให้เด็กการตลาดในอนาคตให้พร้อมต่อการทำธุรกิจในโลกดิจิทัล หรือการจัดตั้งธุรกิจของตนเองภายใต้แนวคิด Moving Beyond Competitors”

ขอบคุณภาพข่าวจาก : ประชาคมนักวิจัย
รายละเอียดเพิ่มเติม : http://www.facebook.com/pg/WBS2557/photos/?tab=album&album_id=2073292399427987&_