Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ม.วลัยลักษณ์ จัดการประชุมเตรียมความพร้อมวารสารวิชาการ ตามหลักเกณฑ์ใหม่ของฐานข้อมูล ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI)

อัพเดท : 25/01/2562

1453



ม.วลัยลักษณ์ โดย สถาบันวิจัยและนวัตกรรม จัดประชุมเตรียมความพร้อมวารสารวิชาการ ตามหลักเกณฑ์ใหม่ของฐานข้อมูลศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) เพื่อเป็นการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาวารสารของมหาวิทยาลัยให้มีคุณภาพมาตรฐานขั้นสูง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารวิจัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.อภินันท์ สุประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม กล่าวรายงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุวดี วิทยพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและผู้แทนของมหาวิทยาลัย บรรณาธิการและกองบรรณาธิการวารสาร คณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้



ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีนโยบายสนับสนุนการวิจัยแบบ ‘NAB Policy’ (National Area Base Policy) คือมุ่งเน้นการวิจัยเชิงพื้นที่ภาคใต้เป็นหลักสำคัญ อันดับแรกเพื่อการสร้างความรู้สำหรับประยุกต์ใช้ในสังคมไทยและการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้แก่สังคมวิชาการของโลก รวมถึงส่งเสริมการวิจัยที่เป็นกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้การบริหารงานวิจัยกับการบริการวิชาการจะมีความเชื่อมโยงกัน โดยมีความสมดุลระหว่างการวิจัยพื้นฐานเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่กับการวิจัยที่สามารถนำผลการวิจัยไปใช้แก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่น ตามวิสัยทัศน์ ‘3 ล’ คือเป็น ‘แหล่ง’ ข้อมูลผลผลิตงานวิจัย เป็น ‘หลัก’ ของชุมชนท้องถิ่นด้วยกระบวนการวิจัยเพื่อพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็น ‘เลิศ’ สู่สากล

ปีงบประมาณ 2560 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้มีโครงการส่งเสริมการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ เพื่อดำเนินงานโครงการ “สร้างบ้านให้วารสารวิชาการคุณภาพ” เป็นโครงการเพื่อขยายการสนับสนุนให้วารสารวิชาการของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ยกระดับคุณภาพ ให้มหาวิทยาลัยเป็นที่รู้จักในฐานะ “บ้าน” ของวารสารคุณภาพที่มีส่วนส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการ ตามวิสัยทัศน์การบริหาร และพัฒนาของมหาวิทยาลัย จนทำให้สารอาศรมวัฒนธรรมได้รับการประเมินวารสารเข้าสู่ฐานข้อมูล TCI และปัจจุบันการดำเนินการวารสารมีความก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มมหาวิทยาลัยเครือข่าย University Consortium ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 28 แห่ง เพื่อรวมตัวกันบอกรับฐานข้อมูล Scopus เป็นเวลา 3 ปี ต่อเนื่อง ภายใต้โครงการของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) ส่งผลต่อการเพิ่มโอกาสในการสร้างความร่วมมือในการทำวิจัยและกำหนดนโยบายต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการเรียนการสอน และด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัย

ปีงบประมาณ 2561 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีบทความตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติจำนวน 155 เรื่อง เป็นสถิติสูงสุดของมหาวิทยาลัย มีผลงานตีพิมพ์ในฐานข้อมูล Scopus รวมทั้งสิ้น 1,174 เรื่อง นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ม.ค. 2562) ล่าสุดมีวารสารไทยอยู่ในฐานข้อมูล Scopus จำนวน 32 วารสาร จากวารสารไทยทั้งหมด 852 วารสาร ในฐานข้อมูล TCI รวมทั้งวารสารนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับการประเมินเข้าสู่ฐานข้อมูล TCI

ปีงบประมาณ 2562 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ติดอันดับองค์กรด้านการวิจัย จากการจัดลำดับโดย SCImago Institutions Rankings (SIR) เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี คือ อันดับที่ 27 ของไทย อันดับที่ 383 ของเอเชีย และเป็นอันดับที่ 714 ของโลก รวมถึงการติดอันดับ Top Ten Nature Index ในสถาบันการศึกษาวิจัยของประเทศไทยเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยอยู่ในอันดับที่ 9 ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าว



ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.อภินันท์ สุประเสริฐ กล่าวว่า ปัจจุบันมีวารสารวิชาการไทยอยู่ในฐานข้อมูล TCI จำนวน 852 วารสาร ฐานข้อมูลอาเซียน (ACI) จำนวน 168 วารสาร และมีวารสารใหม่เข้าสู่ฐานข้อมูล TCI เฉลี่ยปีละ 80 วารสาร หลายวารสารได้พัฒนาคุณภาพตามหลักเกณฑ์วารสารวิชาการกลุ่มสาขาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บางวารสารได้รับการรับรองมาตรฐานในฐานข้อมูลระดับชาติและนานาชาติ และวารสารอีกส่วนหนึ่งยังต้องพัฒนาคุณภาพให้เทียบเท่าหรือได้รับการรับรองมาตรฐานจากฐานข้อมูลระดับชาติ ระดับอาเซียน และระดับนานาชาติ อีกทั้งปี พ.ศ.2561 ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (ศูนย์ TCI) ได้ประกาศให้มีการประเมินคุณภาพวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI รอบที่ 4 พ.ศ. 2563-2567 เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพในการบริหารจัดการของวารสารไทยทั้งในด้านเนื้อหาและรูปแบบให้มีมาตรฐานระดับสากล โดยศูนย์ TCI ได้คัดเลือกวารสารไทยไปเผยแพร่ในระดับนานาชาติของกลุ่มประเทศภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ศูนย์ TCI ได้รับมอบหมายจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ในการพัฒนาฐานข้อมูลอาเซียนขึ้น มีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนมีฐานข้อมูลบทความและการอ้างอิงจากวารสารระดับประเทศ (National Citation Index, NCI) ของตนเอง และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากแต่ละประเทศจำนวน 10 ประเทศเข้ากับฐานข้อมูลอาเซียน (ACI) เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลกลางสำหรับรวบรวมผลงานตีพิมพ์จากวารสารของประเทศสมาชิก ให้สามารถสืบค้นข้อมูลการตีพิมพ์และข้อมูลการอ้างอิงร่วมกันได้

อย่างไรก็ตาม มีวารสารไทยจำนวนน้อยที่อยู่ในฐานข้อมูลอาเซียนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 19 เปอร์เซ็นต์ จากวารสารไทยทั้งหมด และปัจจุบันมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI จำนวน 5 วารสาร คือ วารสารนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, สารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์, วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, วารสารการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ Walailak Journal of Science and Technology โดยมีเพียง Walailak Journal of Science and Technology วารสารเดียวที่อยู่ในฐานข้อมูลอาเซียน และฐานข้อมูล SCOPUS ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.อภินันท์ กล่าว



การประชุมเตรียมความพร้อมวารสารวิชาการตามหลักเกณฑ์ใหม่ของฐานข้อมูล ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) ในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการ จึงกำหนดจัดประชุมเตรียมความพร้อมวารสารตามหลักเกณฑ์ใหม่ปี พ.ศ. 2561 ของฐานข้อมูล TCI และฐานข้อมูลอาเซียนขึ้น โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมการประชุมจำนวน 30 คน จาก 10 วารสาร ประกอบด้วย วารสารวิชาการของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทั้งหมด 5 วารสาร และวารสารวิชาการในเครือข่าย จำนวน 5 วารสาร ได้แก่ วารสารวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ วารสารฟิสิกส์ไทย วารสารนาคบุตรปริทรรศน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช วารสารวิชชา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช วารสารวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ถือเป็นการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาวารสารของมหาวิทยาลัยให้มีคุณภาพมาตรฐานขั้นสูง เกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อันจะนำไปสู่ผลกระทบการดำเนินงานด้านวารสาร รวมถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการประเมินคุณภาพทางวิชาการของหน่วยงานภายในประเทศ เพื่อก้าวสู่สากลต่อไป

ภาพโดย นางสาวชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร

ประมวลภาพ