Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

พิธีปิดโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปี พ.ศ.2562

อัพเดท : 03/10/2562

1081



มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ร่วมกับธนาคารออมสิน จัดพิธีปิดโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปี พ.ศ.2562 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 ณ ห้องประชุม 4 อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยได้รับเกียรติจาก คุณวรพันธ์ ถังมณี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เขตนครศรีธรรมราช 1 กล่าวต้อนรับคณะทำงานและกลุ่มองค์กรชุมชน คุณระพีพรรณ จันทร์ประสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ภาค 17 กล่าววัตถุประสงค์โครงการ และรองศาสตราจารย์ ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ รักษาการแทนผู้อำนวยการอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ กล่าวรายงานผลการดำเนินงานโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นในนามมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ ปาลิโภชน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา เป็นประธานปิดโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ประจำปี พ.ศ.๒๕๖๒

โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น Plus มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปี พ.ศ. 2562 ได้ดำเนินงานโครงการทั้งสิ้น จำนวน 8 โครงการ ประกอบด้วย โครงการที่ 1) การพัฒนาผลิตภัณฑ์และขยายตลาดข้าวหลามบ้านทุ่งหล่อ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช โครงการที่ 2) การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน “บ่อน้ำร้อนกรุงชิง” ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช โครงการที่ 3) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ “ย่านลิเภาบ้านหมน” ต.ท่าเรือ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โครงการที่ 4) การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องแกงพื้นบ้านกลุ่มสตรีตำบลบ้านใหม่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช โครงการที่ 5) การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทะเลบ้านในถุ้ง ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช โครงการที่ 6) กลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์สิชลผ้ามัดย้อม อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช โครงการที่ 7) การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรและนวัตกรรมพื้นบ้านชุมชนบางจาก อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โครงการที่ 8) การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน “เอกน้ำยางสด” ผลิตภัณฑ์ผ้าเคลือบน้ำยางพารา ต.เสาเภา อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช

กิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” แสดงให้เห็นถึงการบูรณาการองค์ความรู้ที่เป็นปัจจุบัน ไปปรับประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตของคนไทยให้สมดุลกับสภาพแวดล้อมของชุมชน เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญลำดับต้นในการยกระดับคุณภาพชีวิต ขับเคลื่อนความมั่นคงและสร้างความสุขให้คนในชุมชน รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถเข้าสู่ตลาดเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมเอกลักษณ์จำเพาะถิ่นฐาน ให้เป็นแบบอย่างของภูมิปัญญาท้องถิ่นเกิดกระบวนการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของชุมชน ทั้งนี้ยังเป็นการสนับสนุนและเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับนักศึกษาได้ตระหนัก รู้จักการรับผิดชอบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม มีความตระหนักถึงประโยชน์ส่วนรวมด้วย อีกทั้งโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นยังเสริมสร้างให้ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนด้วยการร่วมเรียน ร่วมรู้ และร่วมทำ ซึ่งก่อให้เกิดความสัมพันธ์ภาพที่ดีระหว่างกลุ่มองค์กรชุมชน ธนาคารออมสิน และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตลอดจนการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องด้วย

ประมวลภาพกิจกรรม : https://photos.app.goo.gl/2ZJK4SMN2pCz4J8D8